ยกระดับ ศพด. ด้วยนวัตกรรม โปรแกรม “366 Q-KIDS” สสส. สานพลังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น- ESTA-ภาคีเครือข่าย ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สร้างศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้ง 6 แห่ง ผ่านการทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าวส่งผลให้มีการประเมินคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านมาตรฐานชาติ เด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว-การทรงตัว มีความสามารถการใช้ภาษา-ส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เตรียมพัฒนาส่งเสริม ศพด. ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยขยายการใช้เครื่องมือใน อปท.เครือข่ายจำนวน 33 แห่ง ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บริษัท เอดูเคชั่น เซอร์วิส แอนด์ เทรนนิ่ง เอเจนซี จำกัด (ESTA) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยการยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วยโปรแกรม 366 Q-KIDS : การขยายผลเชิงลึก Scale Deep และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น”

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า การบูรณาการการทำงานระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) และชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย” ปัจจุบัน สสส. ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนา ศพด. “ศูนย์ต้นแบบ” 6 แห่ง อปท.เครือข่าย 33 แห่ง ที่จะต้องมีมาตรฐานที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น บุคลากร สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ 2.ครู/ผู้ดูแล ให้การดูแล และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 3.คุณภาพของเด็กปฐมวัย เช่น การเคลื่อนไหว อารมณ์จิตใจ สติปัญญา การเรียนรู้ การสื่อสาร สังคม คุณธรรม เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งอื่น ๆ ในการยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ได้ส่งเสริมการนำ “ชุดความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ไปใช้จริง พร้อมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับครูและบุคลากร สนับสนุนการจัด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เข้มแข็ง

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างสุขภาวะในเด็กปฐมวัยเพราะเป็นวัยสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีตลอดชีวิตผ่านยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1.เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครอบครัวและชุมชน 2.ส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้ใกล้บ้าน 3.พัฒนาระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวแบบไร้รอยต่อ และ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย พร้อมทั้งได้พัฒนา นวัตกรรม โปรแกรม 366 Q-KIDS ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของครูและบุคลากร โดยอาศัย “3 ตัวช่วย” ได้แก่ 1.เครือข่าย ทีมผู้เชี่ยวชาญ 2.ทีมสนับสนุนวิชาการ และ 3.ชุดความรู้พร้อมใช้ ผ่าน 6 กิจกรรมหลัก ครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและพัฒนาการเด็ก ดำเนินการภายใน 6 เดือน ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมีผลการประเมินพบว่า 84.31% ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการ มีคุณภาพดีขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐาน

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพื้นที่ ผ่านเครือข่ายตำบลสุขภาวะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้นำนวัตกรรม โปรแกรม 366 Q-KIDS มาพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของครูและบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของศูนย์ต้นแบบทั้ง 6 แห่ง ที่มีชุดประสบการณ์สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ด้วยพลังของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ (ท้องถิ่น-ท้องที่-องค์กรชุมชน-หน่วยงานรัฐในพื้นที่) ผ่านทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ที่ขยายการทำงานไปใน อปท.เครือข่าย 33 แห่ง โดยมีบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพในการดูแลและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน ที่จะส่งผลต่อเด็กปฐมวัยให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ครอบคลุม ทั้งด้านการเคลื่อนไหว ทักษะการทรงตัว ความสามารถในการใช้ภาษา การส่งเสริมจินตนาการ และสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น และเป็นโมเดลสำหรับขยายผลไปยัง ศพด. ทั่วประเทศ

นางชลิดา ยุตราวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ สสส. นำชุดความรู้ 366 Q-KIDS ไปปรับใช้ใน ศพด.ทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล เพื่อให้ ศพด.ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าครูและบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สามารถดูแลเด็กปฐมวัยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็ก และช่วยให้เด็ก และเยาวชน มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการเติบโตต่อไป หลังจากนี้จะขยายการทำงานเพิ่มจำนวน ศพด.ที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครือข่ายตำบลสุขภาวะเป็นฐานในการดำเนินงาน เพื่อให้เด็กปฐมวัยในทุกพื้นที่จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของครูและบุคลากรใน ศพด.ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ต้นแบบการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น 6 แห่ง และเครือข่าย 33 แห่ง
- อบต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย มีเครือข่าย 5 แห่ง
- อบต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
- อบต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย
- อบต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย
- อบต.ม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย
- อบต.เวียงห้าว อ.พาน จ.เชียงราย
อบต.ดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มีเครือข่าย 5 แห่ง
- อบต.ตะเบาะ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
- อบต.นาป่า อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
- ทต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
- อบต.น้ำร้อน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
- อบต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
อบต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล มีเครือข่าย 5 แห่ง
- อบต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
- อบต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
- อบต.บ้วนควน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
- อบต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล
- อบต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล
อบต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย มีครือข่าย 7 แห่ง
- อบต.แก่งศรีภูมิ อ.ภูหลวง จ.เลย
- อบต.ผาสามยอด อ.เอราวัณ จ.เลย
- อบต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย
- อบต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย
- ทต.ศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย
- อบต.หนองหญ้าปล้อง อ.วังสะพุง จ.เลย
- อบต.ชมเจริญ อ.ปากชม จ.เลย
อบต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีเครือข่าย 6 แห่ง
- อบต.ค้อทอง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
- อบต.ศรีสุข อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
- อบต.สร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
- ทต.ห้วยเรือ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
- อบต.นาคำใหญ่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
- ทต.เทพวงศา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
อบต.ราชสถิตย์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง มีเครือข่าย 5 แห่ง
- อบต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
- อบต.คำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
- อบต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.อ่างทอง
- อบต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง
- อบต.อ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง


