คัดลอก URL แล้ว

รมว.วธ.เดินหน้าผลักดันแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน กำแพงเมืองโคราช เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เผยแพร่ความรู้แก่คนไทย-ต่างชาติ

สร้างรายได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชาติ มอบกรมศิลปากรอนุรักษ์พร้อมขุดค้นทางโบราณคดี รวบรวมข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออก ภายในเขตเทศบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ณ บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองด้านตะวันออกถนนอัษฎางค์ ตัดถนนพลล้าน เขตเทศบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)โดยสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กรมศิลปากรร่วมกับเทศบาลนครราชสีมาดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออก โดยพื้นที่นี้เดิมเป็นที่ตั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ภายใต้โครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณคูเมืองเก่านครราชสีมา บูรพารวมพล และการขุดค้นระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2567 ได้ขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา เช่น โครงกระดูกมนุษย์จำนวน 3 โครงกระดูก เครื่องประดับทองคำ สร้อยหิน ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก เศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำ ซึ่งตามข้อมูลวิชาการโบราณคดีกำหนดเป็นตัวแทนของกิจกรรมหรือวัฒนธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยเหล็กที่มีช่วงอายุประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของการศึกษาร่องรอยมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา

“การพบหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออกครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทยอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรนำโครงกระดูกและโบราณวัตถุไปดำเนินการอนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้ขยายความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองโคราชได้มากขึ้น” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออกต่อไป ซึ่งกรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา จะขยายหลุมขุดค้นเพื่อจะได้หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มขึ้นและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จะดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิ่มเติมในช่วงเดือนตุลาคม 2567 เนื่องจากจะต้องรอให้หมดช่วงฤดูฝนเพราะเป็นอุปสรรคในการขุดค้นทางโบราณคดี

“เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นและรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มเติมจนได้ข้อมูลเป็นที่แน่ชัดแล้ว ก็ให้นำผลจากการศึกษานี้มาหารือกับเทศบาลนครราชสีมาและจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประเมินศักยภาพและหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาแหล่งโบราณคดีโนนพลล้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชน เพื่อให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั้งชาวจังหวัดนครราชสีมาและคนไทยทั่วประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้ามาชมและศึกษาหาความรู้ อีกทั้งช่วยสร้างรายได้แก่จังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง