จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ที่เกิดขึ้น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพ อสม. อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างมาก ชุมชนบ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ อสม. สะท้อนการทำงานผ่าน โครงการการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงาน เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน ในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสมพร ธานี ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงโครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็นการอบรมประจำหมู่บ้านทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 50 คน โดยเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลเขื่องใน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 10 มาความรู้ถึงบริบทของการป้องกันและควบคุมโควิด-19
พร้อมกันนี้ยังให้ อสม.เข้าใจในเรื่องกฎหมาย การควบคุมป้องกันโรค การดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรค รวมถึงปรับทัศนคติบางส่วน เพราะ อสม. บางคนยังเกรงกลัวเชื้อโควิด-19 อยู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ฝึกแบบปฏิบัติที่สถานีอนามัย วันละ 2 คน เพื่อเสริมทักษะคัดกรอง จนสามารถไปคัดกรองในงานบุญ งานประเพณีในท้องถิ่นได้ รวมถึงการตรวจคัดกรองด้วย ATK การสังเกตอาการคนป่วย หรือการแนะนำมาให้รับบริการที่สถานีอนามัย
ขณะเดียวกันแกนนำชุมชนก็จะได้รับฝึกอบรมทักษะเรื่องการตรวจ ATK เช่นกัน สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ และยังได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนและสถานประกอบที่ส่งคนเข้ามาร่วมอบรม ทำให้ อสม. ตรวจ ATK อย่างถูกต้อง มีเทคนิคการป้องกันตนเองที่ปลอดภัย จากนั้นก็จะส่งต่อข้อมูลมาให้สถานีอนามัย ได้รับทราบ แม้ประชาชนบางส่วนไม่ยอมรับการตรวจ ATK จากแกนนำ อสม. ก็จะส่งต่อมายัง รพ.สต. ให้ตรวจคัดกรองได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในช่วงการระบาดในรอบที่สอง สถานีอนามัย ได้ตั้งจุดตรวจ ATK แม้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ แต่ก็มีแกนนำ อสม. เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรอง ATK วันละ 2 คน
“กิจกรรมตรงนี้เจ้าหน้าที่จะสอนการใช้ การป้องกันโดยการสวมชุด PPE เทคนิคการตรวจอย่างถูกต้องถูกวิธี การใส่แมส การดูแลเรื่องของการควบคุมป้องกัน ทำให้แกนนำ อสม. มีความมั่นใจ พร้อมเสริมองค์ความรู้และเทคนิคให้ ครั้งต่อมาก็ทำเองได้ ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำ อันนี้เป็นสิ่งที่ชอบ และประทับใจ ทำให้ปฏิบัติงานมาจนทุกวันนี้” นางสมพร กล่าว
นางสมพร กล่าวว่า นอกจากเรื่องการคัดกรองแล้ว ยังได้พัฒนาศักยภาพ อสม. เรื่องนวัตกรรมด้านสมุนไพรเข้าไปด้วย หากพบผู้ติดเชื้อ ก็จะจัดส่งยาสมุนไพรเพื่อช่วยในการรักษา โดยทำงานร่วมกับแพทย์แผนไทยปฏิบัติการ ประกอบกับสถานีอนามัยแห่งนี้ มีจุดเด่นในการเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการแพทย์แผนไทย ที่มีศูนย์บริการการแพทย์แผนไทยอยู่ 3 แห่ง คือที่บ้านก่อ บ้านเอ้ และบ้านพับ แต่ละแห่งเป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรอย่างครบวงจร มีการอบรมเรื่องทำสมุนไพรให้กับผู้ที่สนใจ โดย อสม. จะเป็นผู้ดูแลสมุนไพรร่วมกับปราชญ์ชุมชน และยังสามารถทำลูกประคบสมุนไพรที่หาได้เองในชุมชนอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมาก เพราะ อสม. มีองค์ความรู้ สามารถสร้างบริบทการดูแลรักษาโรคได้อย่างมั่นใจ เกิดการสื่อสารความรู้เรื่องโควิด-19 ภายในชุมชน ทำให้ทุกคนมีความเข้าใจมากขึ้น สามารถปรับตัวให้กับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนเองได้ ที่สำคัญคือทุกคนในชุมชนมีความเข้าใจต่อการรักษาตัวจากอาการติดเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างดี สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากมีครัวเรือนใดพบผู้ป่วยติดเชื้อก็จะแยกห้องกันอยู่ แยกรับประทานอาหาร รวมถึงได้รับการส่งต่อผู้ป่วยจากชุมชนมาสู่อนามัยอีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. เพื่อมาใช้ในการอบรมแกนนำ อสม. ให้มีความรู้ในเรื่องของการตรวจคัดกรอง เพิ่มโอกาสในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้มากขึ้น สามารถดำเนินกิจกรรมด้านสมุนไพรได้อย่างหลากหลาย
ด้าน นางแจ่มศิริ บุญจริง เจ้าหน้าที่ อสม. กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ อสม. ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า อสม. เปรียบเสมือนแขนขาของแพทย์ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวพบผู้ป่วยสูงพอสมควรประมาณ 30 – 40 คน อสม. จึงเป็นด่านหน้าในการออกตรวจสอบ ค้นหาผู้ป่วย หากใครเดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือมีการจัดงานบุญในพื้นที่ อสม. จะเป็นผู้ตรวจคัดกรองเองทุกคน รวมถึงรับให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามาสอบถาม เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับคนที่เข้ามาปรึกษา เช่น ตนเองได้ดูแลในพื้นที่หมู่ที่ 6 ก็จะมีศูนย์พักคอยอยู่ทั้งหมด 3 แห่ง ที่รับส่งต่อผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก หรือรับผู้ป่วยกลับมาจากโรงพยาบาลสนาม โดย อสม. ในหมู่ที่ 6 จะมีทั้งหมด 22 คน แบ่งหน้าที่ ผลัดกันเข้าเวรวันละ 3 คน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. อีกส่วนหนึ่งก็จะลงพื้นที่ตามบ้าน เพื่อเยี่ยมดูแลครอบครัวต่างๆ โดยมี “ถุงเยี่ยม” ซึ่งเป็นสิ่งของที่ได้รับบริจาคทั้งอาหารแห้ง น้ำดื่ม นม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีทั้งยาหอมและลูกประคบ หากใครที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วก็สามารถนำมานวดให้กันได้
ทั้งนี้ ความรู้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน ได้รับองค์ความรู้ที่ถูกส่งต่อมาจากแพทย์ของสถานีอนามัย ซึ่ง อสม.จะได้รับการฝึกอบรมเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันไม่ให้ติดโควิด-19 หรือ การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้ ประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน
“ยอมรับว่าครั้งแรกที่ได้รับหน้าที่ดูแลคนติดเชื้อก็มีความกลัวอยู่บ้าง แต่เมื่อมาเจอคนที่อยากให้ช่วย เพราะติดเชื้อมาจากกรุงเทพมหานครแล้วไม่มีที่รักษา ก็อดสงสารไม่ได้ จึงตัดสินใจทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ คำเดียวที่ต้องการช่วงโควิด-19 ก็คือคำว่า ขอบคุณ จากผู้ป่วย ซึ่งก็ได้เต็มร้อยนะ” นางแจ่มศิริ กล่าว
หลังจากได้รับความรู้ของโควิด-19 แล้ว อสม. ทุกคนต่างก็มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น สามารถแบ่งเบาภาระหน้าที่ของแพทย์ ด้วยการช่วยจัดหายาในสถานีอนามัยได้ และสามารถล้างแผลไปพร้อมกับแพทย์ได้อีกด้วย และยังพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ประชาชนให้การยอมรับ อสม. มากขึ้นอีกด้วย.