คัดลอก URL แล้ว
“ซิน เคอ หยวน” ยัน เหล็กไม่ใช่ต้นเหตุ ตึก สตง. ถล่ม

“ซิน เคอ หยวน” ยัน เหล็กไม่ใช่ต้นเหตุ ตึก สตง. ถล่ม

บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ว่าจ้างทีมทนาย มาชี้แจงครั้งแรกหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เป็นเหตุให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลง และมีผู้เสียชีวิต และสูญหายหลายสิบราย

นายปิยะพงศ์ คงมะลวน ทนายคนที่ 1 สำนักงานกฎหมายเจ้าพระยาทนายความ แถลงว่า อันดับแรก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างรุนแรง อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัทฯ ถูกชี้นำให้เข้าใจผิดว่าเหล็กเส้น-เหล็กข้ออ้อย ของบริษัทฯ ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้นเหตุให้ตึก สตง. ถล่ม

ทั้งๆ สาเหตุที่แท้จริง มีผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกรออกมาให้เหตุผลว่าสาเหตุตึก สตง. ถล่มมาจากแบบการก่อสร้าง และการลดสเป็กการก่อสร้างตึก สตง.

นายปิยพงศ์ ยืนยันว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน ประกอบธุรกิจอย่างสุจริตมาโดยตลอด และได้รับการอนุญาติประกอบกิจการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้มาตรฐาน ISO 9,100 ตามกฎหมายกำหนดทุกประการ และที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยถูกร้องเรียนมาตรฐานจากตัวแทนจำหน่าย ย้ำว่า บริษัท ไม่เคยจำหน่ายเหล็กให้ผู้รับเหมา หรือ สตง. โดยตรง จะจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่ใช่ทุนจีนเทา เนื่อง มีการจ้างบริษัททำบัญชีที่มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย

ทนาย SKY รับ ชี้แจงวันนี้ไม่เกี่ยวเหล็ก สตง. ถล่ม

ด้านนายสุรศักดิ์ วีระกุล ทนายความคนที่ 2 ชี้แจงประเด็นเหล็กไม่ได้มาตรฐาน เมื่อคำสั่งปิดโรงงานเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการทดสอบสถาบันเหล็กฯ มีความผิดปกติ เนื่องจาก การทดสอบค่าโบร่อนจากสถาบันเหล็กฯ มีเครื่องมือไม่มีขีดความสามารถที่เพียงพอการทดสอบของบริษัทฯ ดังนั้น การตรวจโบร่อนทั้ง 2 ครั้ง จึงไม่อยู่ในขอบข่ายการทดลองห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลดังกล่าวไม่สามารถนำมายืนยันทางกฎหมายได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การออกมาชี้แจงครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการทดสอบเหล็กเส้น ที่มาจากตึก สตง. สถ่ม ในวันที่ 31 เมษายน 2568 ตามที่สังคมตั้งข้อสงสัยหรือไม่ ตอบว่า ใช่ครับ เป็นการทดสอบเหล็กคนส่วนกัน

SKY แจงที่พบ คือ ”ฝุ่นดำ“ ไม่ได้นำเข้ามากถึง 4 หมื่นตัน

ส่วนคดีครอบครองฝุ่นแดง นั้น นายสุรศักดิ์ ชี้แจงว่า ไม่ใช่ฝุ่นแดงแต่เป็นฝุ่นดำ มีการเก็บไว้ในโรงงานตลอด และจัดเก็บตาม พรบ.โรงงาน การนำออกมา หรือขนย้ายจะต้องแจ้งขออนุญาตกับกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ไม่ได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เกิดจากขั้นตอนการผลิตเท่านั้น และไม่ได้มีมากถึง 40,000 ตัน ตามกระแสข่าว

SKY ฟ้องกลับ “สรรพากร” ปม ใบกำกับภาษีปลอม 

ส่วนสาเหตุคดีใช้ใบกำกับภาษีปลอม ที่กรมสรรพากรได้กล่าวโทษต่อ DSI ให้ดำเนินคดีอาญากับบริษัท ซิน เคอ หยวน และคณะกรรมการบริษัทฯ กรณีตรวจพบการใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2560 จำนวนกว่า 7,000 ฉบับ มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร และ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษแล้ว นั้น นายสุรศักดิ์ บอกว่า อยู่ระหว่างการฟ้องกลับกรมสรรพากร ขอไปชี้แจงในชั้นศาล

นาย สุรศักดิ์ ยืนยันหนักแน่นว่า ตัวอย่างเหล็กที่เก็บจากตึก สตง. เพื่อนำไปตรวจสอบนั้นเป็นเหล็กที่ผ่านการใช้งานแล้วไม่สามารถอ้างอิงผลการตรวจสอบได้ ซึ่งโดยขั้นตอนปกติแล้วการตรวจสอบมาตรฐานเหล็กจะต้องตัดแบ่งเหล็กออกเป็น 3 ท่อน ท่อนหนึ่งเพื่อนำไปตรวจสอบ ท่อนที่สองเก็บไว้เป็นเหล็กอ้างอิง ท่อนที่สามให้โรงงานเก็บไว้ หากผลการตรวจสอบท่อนแรกแล้วมีปัญหาหรือข้อโต้แย้งจะได้นำท่อนที่สองและสามมาตรวจพิสูจน์ซ้ำ เพื่อให้คลายข้อสงสัย แต่กรณีตึก สตง. ถล่ม เหล็กของ SKY ถูกตรวจสอบซ้ำในท่อนที่หนึ่งเพียงท่อนเดียว

SKY ยัน เตาหบอมเหล็ก (IF) รุ่นใหม่ ไม่ใช่ของเก่าจีน

ส่วนประเด็นการการทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็กที่มากกว่า นาย สุรศักดิ์ ยืนยันว่า เตาอินดักชั่นนำเข้ามาจากจีนมีมาตรฐานการรับรองจากจีน และยืนยันว่า เป็นเตาใหม่ไม่ได้เป็นเตามาตรฐานต่ำ และถูกปลดการใช้งานแล้ว แล้วนำกลับเข้ามาใช้ในประเทศไทย

SKY ยัน ไม่ได้ไล่ รมว.อุตฯ ค่าหัว 300 ล้าน

ส่วนกรณี บริษัทฯ ได้วิ่งเต้นจ่ายเงินค่าหัว 300 ล้านบาท เพื่อกดดันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้พ้นเก้าอี้ นายปิยะพงศ์ ยืนยัน ไม่เป็นความจริง พร้อมท้ากลับคนที่ออกมาเปิดโปง ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลให้เร่งหาตัวคนให้ข่าว เพราะทางบริษัทฯ เสียหายมาก

สำหรับประเด็นการถูกเพิกถอนใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI บริษัทจะใช้สิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป

“รัฐบาลออกไปเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่กลับถูกสั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตลงทุนนั้น ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน แต่จะถึงขั้นที่ SKY จะถอนการลงทุนทั้งหมดออกจากไทยหรือไม่ ในฐานะทีมทนายไม่สามารถตอบแทนผู้บริหารได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทเอง“

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อผู้บริหารของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่เกี่ยวข้องกับการถูกดำเนินคดี ประกอบด้วย

  1. นายเจี้ยนฉี เฉิน : ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (สัญชาติจีน) และกรรมการบริษัท
  2. นายสู้ หลงเฉิน : กรรมการบริษัท
  3. นายสมพัน ปันแก้ว : กรรมการบริษัท (สัญชาติลาว)
  4. นายเหลินจง เฉิน : กรรมการบริษัท (ปรากฏชื่อในบริษัทเครือ ซิน เคอ หยวน จำกัด)

บุคคลเหล่านี้เป็นคณะกรรมการบริษัทและมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการบริษัทฯ ซึ่งอาจถูกดำเนินคดี ทั้งการใช้ใบกำกับภาษีปลอม และการผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงประเด็นการครอบครองฝุ่นแดง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา