
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ตั้งข้อสังเกตตึกถล่มอาจเกิดจากโครงสร้างอ่อนแอ-สั่นพ้องชั้นดินอ่อนกับแผ่นดินไหวคาบยาว ชี้จำเป็นตรวจสอบวัสดุและแบบก่อสร้างโดยละเอียด
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและนักวิจัย สกสว. เปิดเผยข้อสังเกตเบื้องต้นถึงกรณีอาคารที่กำลังก่อสร้างพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ว่า จากการวิเคราะห์ภาพวิดีโอ พบจุดพังสำคัญ 3 จุด ได้แก่ เสาชั้นล่างหักกลางเสา, รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาด และการพังบริเวณปล่องลิฟต์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการถล่มทั้งอาคารในลักษณะต่อเนื่อง หรือ “Pancake collapse”
นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้โครงสร้างถล่มคือ “การสั่นพ้อง” (resonance) ระหว่างคลื่นแผ่นดินไหวคาบยาวที่เดินทางจากศูนย์กลางในเมียนมา มาถึงชั้นดินอ่อนในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาคารสูงที่มีคาบสั่นใกล้เคียงกัน และอาจรุนแรงพอที่จะทำให้เกิดการถล่มได้ อีกทั้งยังต้องตรวจสอบการติดตั้งปั้นจั่นในปล่องลิฟต์ว่ามีแรงสะบัดที่ส่งผลต่อโครงสร้างหรือไม่
ศ.ดร.อมร ย้ำว่าตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 และ 2564 อาคารประเภทนี้ต้องออกแบบให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ในระดับที่ไม่ควรถล่มเช่นนี้ จึงต้องตรวจสอบทั้งแบบก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง และคุณภาพวัสดุก่อสร้างอย่างละเอียด โดยเฉพาะเหล็กเสริมและคอนกรีตว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ก่อนจะสามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงของเหตุถล่มในครั้งนี้