กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลการติดตามและรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 836,289 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 569 ข้อความ
ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุดมาจาก Social Listening จำนวน 548 ข้อความ ตามด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 20 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 184 เรื่อง โดยได้รับผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 71 เรื่อง
จากการตรวจสอบพบว่า ข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่:
- ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลงทะเบียนรับเงินคืนผ่านเพจเฟซบุ๊ก
- บริการทำใบขับขี่ออนไลน์! แค่ 1 ชั่วโมง ได้รับบัตรรับรองโดยกรมการขนส่งทางบก
- ทำใบขับขี่ใหม่หรือต่ออายุ ไม่ต้องไปขนส่ง แค่ติดต่อผ่านไลน์
- ปปง. เปิดให้แจ้งความ กรณีโดนโกงทุกรูปแบบ ผ่านเพจ ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
- กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับสมัครคนแพ็กยางมัดผม ผ่านเพจ จัดหางาน แห่งประเทศไทย
- กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดรับสมัครงานไปทำที่บ้าน เป็นช่องทางการสร้างเงินแบบใหม่
- ธ.ก.ส. เปิดบัญชี TikTok ktb42715 เพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อ
- กฟภ. เปิดให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนเปลี่ยนมิเตอร์ทางไลน์
- บัญชีไลน์เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ชักชวนลงทุนเทรดหุ้น
- กรมการจัดหางาน รับสมัครนักพิมพ์อิสระ ผ่านช่องทาง TikTok tpkth1
กระทรวงดีอีได้เน้นย้ำเกี่ยวกับข่าวปลอมอันดับ 1 เรื่อง “ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลงทะเบียนรับเงินคืนผ่านเพจเฟซบุ๊ก” ซึ่งจากการประสานตรวจสอบร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยบัญชีเพจดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็น ปปง. โดยเปิดให้ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลงทะเบียนรับเงินคืนผ่านเพจชื่อ “Protect digital security programs”
ทั้งนี้ ปปง. ยืนยันว่าไม่เคยเปิดเพจเฟซบุ๊กอื่นเพื่อรับคำร้องหรือช่วยเหลือผู้เสียหาย โดย ปปง. มีเพจเฟซบุ๊กเพียงเพจเดียวเท่านั้น คือ “สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน-ปปง.” ที่มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (เครื่องหมายยืนยัน) หลังชื่อเพจ สามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.facebook.com/AMLOTHAILAND/