สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในวันนี้ ( 1 ก.พ. 68) ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ แม้ว่า จะตัวเลขที่ลดลงในหลายพื้นที่ โดยจากรายงานการวัดค่าฝุ่น PM2.5 จากศูนย์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. พบว่า หลายพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก มีแนวโน้มค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่ภาคอื่น ๆ เช่นภาคเหนือ มีแนวโน้มที่ลดลงเล็กน้อย ส่วนภาคกลางยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับเมื่อวานที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของพื้นที่ที่พบว่า มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีอยู่ทั้งหมด 48 จุดด้วยกัน ลดลงจากวานนี้ ที่พบทั้งหมด 97 จุด
นอกจากนี้ยังพบว่า หลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ขยับขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับสูงสุดมากถึง 3 จุดด้วยกัน สำหรับพื้นที่ที่พบว่า มีฝุ่นสูงที่สุดในไทย คือ จุดตรวจวัด รพ.ฟากท่า ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศ วัดได้ 222 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ณ 08.00 น. ที่ผ่านมา

โดยในระยะนี้ไปจนถึงช่วงวันที่ 5-6 ก.พ. การระบายอากาศยังคงทำได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 สามารถสะสมตัวได้มาก
กทม. ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ณ 07:00 น โดยค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมงพบว่า
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.ชุมพร จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ. สุรินทร์
สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในรายภาคนั้น
- ภาคเหนือเกินค่ามาตรฐาน 13 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 13.3 – 63.3 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 33.8 – 76.7 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 29.0 – 85.3 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 28.5 – 68.0 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19.2 – 41.5 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม.เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 45.1 – 74.5 มคก./ลบ.ม.

คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ แนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 31 มกราคม 2568 เวลา 07:00 น. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 60.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานที่ผ่านมา
โดย 12 อันดับ ของค่าฝุ่นPM2.5 เขตสูงสุดในกรุงเทพมหานคร คือ
- เขตหนองจอก 73.9 มคก./ลบ.ม.
- เขตลาดกระบัง 73.5 มคก./ลบ.ม.
- เขตบึงกุ่ม 72.6 มคก./ลบ.ม.
- เขตมีนบุรี 71.5 มคก./ลบ.ม.
- เขตทวีวัฒนา 71.1 มคก./ลบ.ม.
- เขตหนองแขม 70.9 มคก./ลบ.ม.
- เขตคลองสามวา 70.9 มคก./ลบ.ม.
- เขตคันนายาว 70.4 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางกอกน้อย 68.1 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางขุนเทียน 67.6 มคก./ลบ.ม.
- สวนหนองจอก เขตหนองจอก 67.4 มคก./ลบ.ม.
- เขตราษฎร์บูรณะ 67 มคก./ลบ.ม.

…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | รพ.ฟากท่า ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ | 222 |
2 | รพ.สต.บ้านท่าเส้น ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด | 188 |
3 | รพ.สต. บ้านหว้า ต.โนนทัน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น | 183 |
4 | โรงเรียนวัดไทร แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร | 161 |
5 | ลานอเนกประสงค์ โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก ถนนสุวินทวงศ์ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร | 156 |
6 | โรงเรียนวัดบัวแก้ว ซอยนิมิตใหม่ 19 แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร | 153 |
7 | ตึกผู้ป่วยนอก (OPD) โรงพยาบาสุโขทัย ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย | 153 |
8 | รพ.สต.บ้านงิ้วเฒ่า ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย | 152 |
9 | รพ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด | 151 |
10 | รพ.สต.บางโฉลง ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ | 151 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกัมพูชา
สำหรับรายงานจุดความร้อน ของ GISTDA พบว่า เมื่อวานที่ผ่านมาทั้งวัน (31 ม.ค.) พบว่า จำนวนจุดความร้อนในภูมิภาคกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยพบทั้งหมด 4270 จุด จากวันก่อนหน้าที่พบทั้งหมด 3,397 จุด โดยแบ่งเป็น
- กัมพูชา 1932 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 1,654 จุด)
- ไทย 959 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 529 จุด)
- เมียนมาร์ 926 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 794 จุด)
- ลาว 382 จุด (เพิ่มจาก 312 จุด)
- เวียดนาม 64 จุด (ลดลงจาก 42 จุด)
- มาเลเซีย 7 จุด

สำหรับในประเทศไทย พบจุดความร้อนที่เกาะกลุ่มกันในหลายจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ ลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย เป็นต้น