อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพบลูกเสือโคร่ง 3 ตัว จากกล้องดักถ่ายในพื้นที่ต้นแม่น้ำเพชรบุรี สะท้อนความสมบูรณ์ของป่ามรดกโลก
วันที่ 29 มกราคม 2568 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยถึงผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) และการสำรวจประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ซึ่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ต้นแม่น้ำเพชรบุรี ห่างจากพะเนินทุ่งประมาณ 30 กิโลเมตร ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2568 โดยใช้วิธีการล่องเรือยางเป็นระยะเวลา 4 วัน 3 คืน
จากการตรวจสอบกล้องดักถ่ายภาพที่ติดตั้งไว้โดย WWF ในบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี ได้พบภาพแม่เสือโคร่งรหัส KKT-003F เดินผ่านกล้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 และหลังจากนั้นไม่นานก็พบลูกเสือโคร่งอายุประมาณ 1 เดือนจำนวน 3 ตัว วิ่งตามแม่มา ถือเป็นภาพที่รอคอยมาอย่างยาวนาน และเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่าเสือโคร่งสามารถขยายพันธุ์ในพื้นที่ป่ามรดกโลกแห่งนี้
นายมงคลระบุว่า การพบลูกเสือโคร่งในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอุทยานฯ คาดว่าปัจจุบันลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัวมีอายุราว 6 เดือนแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตามและเก็บข้อมูลเพื่อทำฐานข้อมูลประชากรเสือโคร่งต่อไป นับเป็นครั้งแรกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่มีการพบเสือโคร่งออกลูกถึง 3 ตัวในพื้นที่ป่ามรดกโลก
ทั้งนี้ การสำรวจประชากรเสือโคร่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานล่าสุดพบเสือโคร่งรวมทั้งหมด 6 ตัว ประกอบด้วย
- เสือโคร่งญาญ่า (KKT-001F) พบครั้งแรกปี 2556 ถึงปี 2563
- เสือโคร่งณเดชน์ (KKT-002M) พบครั้งแรกปี 2562 ถึงปัจจุบัน
- เสือโคร่ง KKT-003F พบครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงปัจจุบัน
- เสือโคร่ง KKT-004 พบครั้งแรกเดือนธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน
- เสือโคร่ง KKT-005 พบครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงปัจจุบัน
- เสือโคร่ง KKT-006M พบครั้งแรกเดือนมีนาคม 2567 ถึงปัจจุบัน
การพบลูกเสือโคร่งในครั้งนี้นับเป็นข่าวดีที่สะท้อนถึงความสำเร็จของมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกที่มีความสำคัญระดับสากล