คัดลอก URL แล้ว
DSI แจ้งข้อหา “แชร์ลูกโซ่” เพิ่ม “18 บอสดิไอคอน”

DSI แจ้งข้อหา “แชร์ลูกโซ่” เพิ่ม “18 บอสดิไอคอน”

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ บริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการนัดหมายประชุมร่วมกันระหว่างคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะผู้บริหารทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ 18 บอสดิไอคอนฯ นั้น

ต่อมา ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้เป็นการที่ดีเอสไอเข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ตำรวจได้มีการแจ้งข้อหาไว้ก่อนหน้านี้ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และฉ้อโกงประชาชน ต่อมาดีเอสไอได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 รวมถึงได้มีการสอบปากคำผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ สำนักงาน สคบ. เกี่ยวกับพฤติกรรมการกระทำผิดว่าเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่ และดีเอสไอยังได้ข้อเท็จจริงเพิ่ม ก่อนมีมติร่วมกันว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่บอสทั้ง 18 ราย และ 1 นิติบุคคล คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4,5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19,20 นอกจากนี้ ทางดีเอสไอยังได้มีการประสาน ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง และ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการที่ดีเอสไอจะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา และการที่ทนายความจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนด้วย ซึ่งดีเอสไอจะได้ร่วมประชุมกับทั้ง 2 เรือนจำฯ ว่ามีความพร้อมในการจัดเตรียมผู้ต้องหาให้ดีเอสไอแจ้งข้อหาเพิ่มเติมโดยเรียงลำดับอย่างไรบ้าง

ร.ต.อ.วิษณุ เผยอีกว่า สำหรับพฤติการณ์ของแชร์ลูกโซ่นั้น จริง ๆ แล้วมีองค์ประกอบความผิดที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ สำนักงาน สคบ. ได้ให้ข้อเท็จจริงแก่ดีเอสไอไว้ว่ามันเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่ เช่น ความหมายของการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน คืออย่างไร การประกอบกิจการเช่นนี้เป็นการประกอบกิจการที่ผิดกฎหมาย หรือประกอบกิจการโดยที่ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายผลตอบแทนได้หรือไม่ การนำเงินมาหมุนเวียนจ่าย การให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ เป็นต้น จึงเข้าองค์ประกอบความผิดชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ทางผู้ต้องหาจะสู้ในประเด็นที่ว่าแผนธุรกิจมีตัวสินค้าจริงนั้น ก็ถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหา ทั้งนี้ คาดว่าวันนี้ดีเอสไอจะสามารถดำเนินการให้เเล้วเสร็จทั้ง 18 ราย และ 1 นิติบุคคล เพราะเราได้ประสานทนายและทางเรือนจำฯ ไว้แล้ว

“ต้องดูว่าทางทนายความได้เตรียมข้อมูลไว้แค่ไหน เพราะถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาอยู่แล้วในการแก้ข้อกล่าวหา แต่หน้าที่ของพนักงานสอบสวนคือเรามีพยานหลักฐานพอสมควรที่จะแจ้งทั้ง 2 ข้อกล่าวหา ฉะนั้น จึงต้องแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบ เเจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิของผู้ต้องหา นอกจากนี้ แม้ว่าทนายความจะมีหลักฐานในเรื่องของการผลิตสินค้า หรือมีข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร ก็สามารถยื่นเข้ามาได้“ ร.ต.อ.วิษณุ ระบุ

ร.ต.อ.วิษณุ เผยต่อว่า ในส่วนของการสอบสวนปากคำบอสพอล ตนไม่ขอลงรายละเอียดภายในสำนวน แต่จะดำเนินการตามข้อมูล พยานหลักฐานที่มี ทั้งเรื่องแผนประทุษกรรม งบการเงิน การวิเคราะห์เส้นทางการเงิน ข้อมูลหลังบ้านทางคอมพ์ สิ่งใดที่เป็นการสอบสวนจะต้องใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งการกระทำความผิดต่อผู้ต้องหา เราต้องพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งการสอบสวนปากคำระหว่างบอสดาราและบอสดิไอคอนนั้น ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นลักษณะของขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนั้น ทุกคนอาจไม่ได้กระทำเข้าองค์ประกอบความผิดพร้อมกัน แต่ถ้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ทุกคนมีหน้าที่อะไร เราก็ต้องพิสูจน์ว่าหน้าที่แต่ละคนเมื่อมารวมกันแล้วมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ในการกระทำความผิดร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ทั้งนี้ ตามอำนาจของกฎหมาย เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแชร์ลูกโซ่เรียบร้อยแล้ว กรอบระยะการฝากขังจะขยับจาก 48 วันเป็น 84 วัน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของหัวหน้าทีมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ 18 บอสดิไอคอนฯ ประกอบด้วย 3 ผู้อำนวยการกองคดีของดีเอสไอ คือ 1.พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ 2.พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ 3.ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากนั้นคือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของแต่ละกองคดี โดย พ.ต.ต.วรณัน และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสหญิง 7 ราย ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ในส่วนของ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูล เเละเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสชายทั้ง 11 ราย ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในกรณีของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล จะเป็นความรับผิดชอบของ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง