คัดลอก URL แล้ว
ประชุมค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บ. ล่ม! นายจ้างหายทั้งชุด เลื่อนถกใหม่ 20 ก.ย.นี้

ประชุมค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บ. ล่ม! นายจ้างหายทั้งชุด เลื่อนถกใหม่ 20 ก.ย.นี้

วันนี้ 16 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยหลังการประชุมประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 8/2567 หรือ ไตรภาคี ว่า วันนี้การประชุมค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทล่ม เนื่องจากคณะกรรมการฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุม (ยกชุด) จำนวน 5 คน จากองค์ประชุมทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง 5 คน ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน และกระทรวงแรงงาน 5 คน (ฝ่ายรัฐ) ไม่มีสิทธิออกเสียง

นายวีรสุข บอกว่า แม้ว่าวันนี้การประชุมบอร์ดค่าจ้างจะล่ม ส่วนตัวยังมีความหวังว่าจะมีการการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ โดยประธานได้กำหนดวันประชุมใหม่ วันที่ 20 กันยายน 2567 ขณะนี้ตนไม่ทราบเหตุผลของฝ่ายนายจ้างว่าเหตุใดถึงไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่คาดเดาว่าอาจจะมาจากสาเหตุหลัก คือ ไม่อยากให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท แบบรวดเร็วเกินไป

ส่วนสูตรค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน ถือว่าเป็นสูตรที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ฝ่ายลูกจ้างไม่ได้มีปัญหาอะไร ยืนยันว่า ฝ่ายลูกจ้างจะไม่ลดเพดานการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากนายจ้างมีการส่งออกที่ดีขึ้น ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว ยอมรับว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน 300 กว่าบาท ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ

หลังจากนี้ นายวีรสุข ระบุว่า หากการประชุมครั้งหน้า ฝ่ายนายจ้างยังไม่เข้าร่วมการประชุมอาจจะต้องใช้กฎหมายมาตรา 82 วรรค 2 การประชุมครั้งที่ 2 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วมการประชุม จะสามารถลงมติ 2 ใน 3 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ทันที จึงขอให้ฝ่ายนายจ้างเข้าร่วมประชุมครั้งหน้าด้วย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ไม่เรียกว่าการประชุมล่ม แค่ไม่ครบองค์ประชุม เลยแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ปัจจุบันมีกิจการประเภทไหนบ้างที่มีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเกิน 400 บาท ถ้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใครจะได้ประโยชน์ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม พบว่า จะมีแรงงานไทยได้ประโยชน์ประมาณ 3,000,000 คน แรงงานต่างด้วยประมาณ 1,000,000 คน นอกจากนี้ยังดูกิจการไซต์แอล หรือลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จะทำให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์มากกว่า เบื้องต้นมี 2 จังหวัดที่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 400 บาท คือ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสมุทรปราการ ในอัตรา 410 บาท

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง หลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 1. ลดการส่งเงินประกันสังคม 1 ปี 2. ลดอัตราภาษีเยียวยานายจ้าง ไม่ใช่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 ได้หรือไม่ก็ต้องรอดูในวันที่ 20 กันยายนนี้อีกครั้ง แม้ว่าฝ่ายนายจ้างจะไม่เข้าร่วมประชุมอีก แต่สามารถใช้มติ 2 ใน 3 หรือ 10 คน ในการลงมติได้ ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงแรงงานว่า นายจ้างติดภารกิจไม่เข้าร่วมประชุมได้ ซึ่งการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 20 กันยายนนี้ ขอความกรุณาให้ฝ่ายนายจ้างเข้าร่วมการประชุม เพื่อรักษาสิทธิตนเอง ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้รับหนังสือร้องเรียนจากสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม ไม่พร้อมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ตนอยากให้มองใน 2 มิติ คือ 1. เครื่องมือ-เครื่องจักรปรับขึ้นราคาหมดแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นควรให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2. สภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว

นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า ตนเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่สามารถแทรกแซงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ แต่หากวันที่ 20 กันยายนนี้ ฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุม ตามกฎระไตรภาคีแล้วที่ประชุมสามารถยึดมติ 2 ใน 3 โหวตปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทได้ทันที

สำหรับไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จะเรียกประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 20 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะเข้านำเข้าสู่การประชุม ครม. วันที่ 24 กันยายน 2567 และสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ก็จะถือว่าสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง