คัดลอก URL แล้ว
“อังคณา” หวังงบ 68 หนุนเรื่องมนุษยธรรมเข้าทุกกระทรวง

“อังคณา” หวังงบ 68 หนุนเรื่องมนุษยธรรมเข้าทุกกระทรวง

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการถกงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า สมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการขอเพิ่มหรือตัดงบลดงบประมาณได้ แต่ว่ามีข้อสังเกตได้ ซึ่งส่วนตัวก็คงมีข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 71 วรรค 4 ที่ระบุถึงเรื่องของการจัดงบประมาณ ให้เหมาะกับเพศสภาพหรือวัย ซึ่งพอมาดูงบ 68 ก็ ตั้งข้อสงสัยว่า แผนมนุษยชนแห่งชาติอยู่ตรงส่วนไหนของงบฯ และทุกกระทรวงได้นำเข้าไปอยู่ในแผนงบประมาณหรือไม่ รวมถึงเรื่องเพศสภาพหรือวัย ทุกกระทรวงได้นำไปใส่หรือไม่ และคงจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะถือว่า เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่รับรองตามแผนมนุษยชนแห่งชาติแล้ว แต่ทำไมกระทรวง ทบวง กรม ถึงไม่นำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในงบประมาณ 68 ยกตัวอย่าง งบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่งบส่วนมากเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของการบูรณาการจัดการอบรมเฉยๆ

เมื่อถามว่า งบประมาณปี 2568 มองว่า ยังไม่ครอบคลุมใช่หรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ใช่ หากเรามีแผนมนุษยชนแห่งชาติแบบนี้ แต่แผนมนุษยชนแห่งชาติจากทุกกระทรวง ทบวง กรมจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้มีงบประมาณในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน อย่างในเรื่องของรัฐธรรมนูญ การจัดสรรงบประมาณ ที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ปรากฏว่า ในทุกกระทรวงยังไม่มีห้องน้ำ สำหรับทุกเพศ หรือความเป็นไปได้ในการที่จะจัดห้องสำหรับผู้หญิงที่ต้องให้นมลูก ทั้งในเรื่องของการปั๊มน้ำนม ก็เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ยังขาดอยู่

ในส่วนของการเตรียมการแถลงนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 12 ถึง 13 กันยายนนี้ มีการเตรียมอภิปรายอย่างไรหรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า ตนได้อ่านนโยบายทั้งหมดอย่างเร็วๆ พบว่า มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องของการปราบปราบยาเสพติด ยอมรับว่า กังวลว่าจะกลับไปเป็นเหมือน พ.ศ. 2546 หรือไม่ที่เป็นช่วงสงครามยาเสพติด มีคนตาย 3,000 กว่าคน แต่ไม่มีใครเคยต้องโทษ ทำให้คนตายฟรี จึงกังวลว่า สงครามยาเสพติดจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และจะปราบปรามอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็มีข้อกฎหมายที่ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย จึงตั้งคำถามว่า เราจะดูแลอย่างไร มีศักยภาพพอหรือไม่ ชุมชนสามารถดูแลกันได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างแรก เพราะเราคิดว่าจะปราบปราม แต่จะทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ใช้กำลังปราบปราม มีการฆ่าตัดตอนจำนวนมาก และคดีก็หมดอายุความ // อีกเรื่องคือปัญหาชายแดนภาคใต้ถูกจัดอันดับความสำคัญ น้อย ทั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 20 ปีแล้ว จึงอยากรู้ว่ารัฐบาลของนางสาวแพทองธาร จะจัดการอย่างไรเพื่อให้หยุดการสู้รบ

ส่วนมุมมองการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น นางอังคณามองว่า ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลของนายทักษิณก็ไม่ต่างกัน ซึ่งดูแล้วก็ไม่ได้มีอะไรใหม่เกิดขึ้น แต่ของเดิมที่ทำแล้วมีปัญหาในเรื่องของยาเสพติด ก็ยังกังวลว่า จะเกิดเหตุการณ์แบบเดิมหรือไม่

ในส่วนของการเลือกกรรมาธิการ ของ สว. มีข้อห่วงใยหรือไม่ที่ สว. สายสีน้ำเงินอาจจะมีการกินรวบทุกตำแหน่ง นางอังคณา บอกว่า ส่วนตัวได้ยื่นใบสมัคร เป็นประธานกรรมาธิการไปแล้ว และก็มั่นใจว่า ตัวเองมีความสามารถที่จะทำงานได้ในเรื่องของการพัฒนาการเมือง และมนุษยชนได้ จึงไปแจ้งความประสงค์ไว้ว่าต้องการเป็นประธานกรรมาธิการในชุดนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่า จะมีการเกลี่ยตำแหน่งกันอย่างไร จะมีความเป็นธรรมหรือไม่ ดูตามคุณสมบัติของผู้ที่เสนอตัวเป็นประธานหรือไม่ หากนับด้วยมือฝั่งเราที่เป็นเสียงข้างน้อยก็คงแพ้ ซึ่งก็ต้องดูในเรื่องของความสามารถ เพราะตนก็มั่นใจว่า เรามีความสามารถไม่แพ้ใคร

ส่วนเรื่องกระบวนการกลั่นกรอง ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง นางอังคณากล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) ต้อง จับตาดูในเรื่องของการตั้งกรรมการ ตามข้อบังคับว่า ให้มีการตั้งกรรมการเพื่อที่จะกลั่นกรองว่า ใครควรจะอยู่ในกรรมาธิการชุดไหน และวิธีการที่สำคัญคืออยากให้คำนึงถึงความสมัครใจ ความเต็มใจในการที่จะอยู่กรรมาธิการนั้น และความรู้ประสบการณ์ ซึ่งพอมีความรู้ประสบการณ์ก็จะทำให้การทำงานนั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเข้าใจในทุกมิติของแต่ละอำนาจหน้าที่ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะอย่างไร เพราะเราเป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งเมื่อมีคนยกมือมากกว่าก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น แต่ก็หวังว่า สมาชิกจะมีความสง่างาม หากพิจารณาตามประสบการณ์ความรู้ความสามารถ เชื่อว่าทุกคนมีความรู้ความสามารถหมด

นางอังคณายังย้ำว่า หากว่าคนที่ประสงค์จะทำงานและได้มีโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง