สสส. ขานรับมติ ครม. หลังอนุมัติงบประมานค่าอาหารกลางวัน สำหรับโรงเรียนขยายโอกาสทุกสังกัดกว่า 3 พันล้านบาท พร้อมขับเคลื่อนแนวทาง กินให้ถูกหลักโภชนาการ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม และบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
หลักสำคัญของการจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียน คือ ต้องให้นักเรียนได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพราะอาหารเป็นโภชนาการพื้นฐานที่สำคัญของเด็กในรั้วโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ห่างไกลที่มีนักเรียนขยายโอกาสในระดับ ม.1 – 3 ในขณะที่งบประมาณอาหารกลางวันมีเพียงแค่เด็กเล็กจนถึง ป.6 เท่านั้น ส่งผลให้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังเผชิญภาวะทุพโภชนาการ มีระดับไอคิวต่ำ
จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 มีการอนุมัติงบประมานค่าอาหารกลางวัน 2,955 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทุกสังกัด 7,344 แห่ง รวม 575,983 คน โดยจะได้รับสูงสุดคนละ 36 บาท/วัน จากเดิม 24 บาท/คน/วัน มีผลปีงบประมาณ 2568
การจัดสรรงบประมาณดังกล่าวถือเป็นความหวังที่จะทำให้อาหารกลางวันในโรงเรียนมีความเหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งยังช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีของเด็กวัยเรียน และสนับสนุนด้านการบริหารจัดการอาหารกลางวันอย่างยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวถึง มติ ครม. ปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในกลุ่มของโรงเรียนขยายโอกาสนั้นเป็นเรื่องดี เพราะอาหารกลางวันในโรงเรียนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กไทยมีโภชนาการที่ดี
“โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ควรได้รับพลังงานและสารอาหารครบถ้วนเพียงพอและสมดุลตามธงโภชนาการ เพื่อทำให้การสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะต่างๆ สมบูรณ์ เติบโตเต็มศักยภาพและยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ทพญ.จันทนาบอก
ทพญ.จันทนา ย้ำถึงความสำคัญของงบอาหารกลางวันนี้ เมื่อดูจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 จะพบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังมีภาวะเตี้ย ผอม เริ่มอ้วนและอ้วน เฉลี่ยร้อยละ 11.9, 5.7 และ 8.7 ตามลำดับ นอกจากนั้น เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ยังมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เฉลี่ยร้อยละ 13.1 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายระดับชาติที่ตั้งไว้
ปัจจุบัน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับกรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานในเรื่องดังกล่าว ขับเคลื่อนการจัดการอาหารกลางวันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนให้มีคุณภาพ มีอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายของเด็ก
โดยเป้าหมายของการดำเนินการคือ การจัดการปริมาณ และคุณภาพที่เพียงพอและเหมาะสมกับวัย โดยมีอาหารหลัก 5 หมู่ที่หลากหลาย อาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ นม 2-3 แก้วต่อวัน กินน้ำตาลและเกลือแต่น้อย ลดหวาน มัน เค็ม ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการอาหารกลางวันอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชนร่วมกันทำเกษตรอินทรีย์ เชื่อมโยงผลผลิต วัตถุดิบปลอดภัยเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย พัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้ชุมชนรอบโรงเรียนมีส่วนร่วมในการจัดหาอาหาร เพิ่มรายได้ให้ครอบครัวในท้องถิ่น และลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) จากการขนส่งวัตถุดิบอาหาร สนับสนุนการพัฒนาและใช้โปรแกรม Thai School Lunch ด้วยวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เพื่อวางแผนการจัดอาหารที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการสนับสนุนการจัดอบรมผู้รับผิดชอบอาหารกลางวันทั้งระดับเขตและโรงเรียนให้ทำหน้าที่เป็นนักโภชนาการประจำโรงเรียน
สสส. ยังได้ร่วมเสนอแนะนโยบายการไม่จำหน่ายขนม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในโรงเรียนเพื่อช่วยลดโอกาสเด็กๆ ที่จะเป็นโรคอ้วน สนับสนุนให้โรงเรียนริเริ่มจัดการขยะอาหารจากอาหารกลางวันโรงเรียนเป็นปุ๋ยหมุนเวียนไปสู่เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาวิจัย เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ได้วัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เป็นต้น
ธนา ยันตรโกวิท ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. มองว่า ในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมไปถึงทำหน้าที่ในการจัดการและบริหารจัดการอาหารกลางวัน ให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพล
“เด็กนักเรียนในแต่ละระดับชั้น จะมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน การบริหารจัดการงบประมาณในโรงเรียนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทบทวนนโยบายค่าอาหารกลางวัน และปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นตามปีงบประมาณ มีการจัดทำข้อมูลจำนวนนักเรียนแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ได้ข้อมูลตามจำนวนที่มีอยู่จริง การคำนวณอัตราค่าอาหารกลางวันในแต่ละระดับชั้นให้เหมาะสม รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างผู้ที่รับจ้างมาทำอาหารให้กับเด็กนักเรียน จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้”
ผลลัพธ์ของการมีอาหารคุณภาพดีและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะปลูกฝังให้เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี ซึ่งจะส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพเด็กและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของระบบสาธารณสุขในอนาคต