คัดลอก URL แล้ว
ชุมชน กทม.ไม่ขวางรัฐจัดระเบียบริมราง สร้างรถไฟเชื่อม3 สนามบิน

ชุมชน กทม.ไม่ขวางรัฐจัดระเบียบริมราง สร้างรถไฟเชื่อม3 สนามบิน

ชุมชน กทม.ไม่ขวางรัฐจัดระเบียบริมราง สร้างรถไฟเชื่อม3 สนามบิน วอนพัฒนาโดยไม่ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง ชี้พร้อมเกาะติดโครงการต่อเนื่องจนกว่าคนจนที่แบกเมืองจะมีบ้านมั่นคง

จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)หรือ พอช . ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง จำนวน 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือนโดยดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี ( ปี2566-2570)
ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออก ภาคกลางและตะวันตก โดยขณะนี้ทาง พอช.ลงพื้นที่ทำความเข้าใจชาวบ้านและสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายรายครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เพื่อนำส่งรายชื่อชุมชนที่มีความประสงค์ขอเช่าที่ดินกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยไปแล้วจำนวน 13,190 ครัวเรือน และคาดว่าภายในปี 2567
นี้จะสามารถสรุปข้อมูลรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากระบบรางครบตามเป้าหมายรวม 27,084 ครัวเรือนนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเชาว์ เกิดอารีย์ ผู้นำชุมชนบุญร่มไทร แขวงพญาไท เขตราชเทวี กทม. หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผยว่า ชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาของรัฐ แต่เราต้องการให้เล็งเห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องทำควบคู่ไปกับยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน ขณะนี้ชุมชนบุญร่มไทรมีชาวบ้านอาศัยกว่า 100 ครัวเรือน ทุกคนได้รับกระทบจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม จึงต้องขอคืนพื้นที่จากประชาชนที่รุกล้ำสร้างบ้านอาศัยอยู่กันมานานกว่า 60 ปีแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาหาโอกาสทำงานในเมืองที่มีความหลากหลายด้านอาชีพด้วยกัน เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

“ชาวบ้านไม่ได้ต้องการเมืองอัจฉริยะ วันนี้เราต้องการเมืองที่เป็นธรรม เพื่อให้คนทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันได้ เพราะพวกเรามักถูกตราหน้าเป็นผู้บุกรุก แต่ผมอยากให้มองพวกเราว่าเป็น“คนแบกเมือง”ที่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ ตั้งแต่ขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างทั่วไป แม่ค้าขายกาแฟน้ำดื่ม ขายลูกชิ้นปิ้ง ข้าวแกง อาชีพเราตอบโจทย์คนทำงานในเมืองใหญ่ช่วยลดค่าครองชีพให้เขาซื้อของดีราคาถูกได้“นายเชาว์ กล่าว

ทั้งนี้ชาวบ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคม รฟท.ไปแล้ว ว่าเราอยากอยู่อย่างถูกกฎหมาย ขอแบ่งพื้นที่ 10 % จากรฟท.ย่านบึงมักกะสัน ที่มีอยู่เกือบ 500 ไร่ มาให้ชาวบ้านเช่าอยู่ในราคาไม่แพงและสร้างที่อยู่อาศัย รวมถึงการให้ รฟท.แถลงชี้แจงศาลเพื่อหยุดหมายศาลไม่ให้ชาวบ้านบางรายตกเป็นผู้บุกรุก โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบสนองจากรัฐเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามเรายังจำเป็นต้องติดตามข้อเรียกร้องเป็นระยะจนกว่าชาวบ้านทุกคนมีบ้านใหม่ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ด้านนางจิราภรณ์ พุ่มปัญญา ประธานชุมชนริมทางรถไฟหลังรพ.เดชา ย่านพญาไท กล่าวว่า ชุมชนริมทางรถไฟหลังรพ.เดชา มีชาวบ้านอยู่อาศัยกว่า 87 ครัวเรือน เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ของโครงการดังกล่าว 57 ครัวเรือน แต่ภายหลังมีสมาชิกขอลาออกบางส่วน เพราะมีคนไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ชุมชนต้องการรอค่ารื้อถอนจาก รฟท.ก่อน ส่วนคนที่เห็นด้วยเพราะดูแล้วโครงการฯมีประโชน์ต่อชาวบ้านจริงๆ ช่วยให้ชาวบ้านริมทางรถไฟมีที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามกฏหมาย มีที่ทำมาหากิน ค้าขายเลี้ยงครอบครัว วันนี้ชาวบ้านได้เห็นแบบบ้านแล้ว ได้เช่าที่ดินจาก รฟท.แล้ว ซึ่งถูกจัดสรรให้อยู่ในย่านบึงมักกะสัน คาดว่าในปี 2567 นี้จะได้สร้างบ้านใหม่บนที่ดินดังกล่าว อย่างไรก็ตามถ้าพวกเราไม่มี พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คอยเป็นหน่วยงานกลางประสานความช่วยเหลือเราคงไม่มีบ้านที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

“ถ้าพวกเราได้ไปอยู่ในที่ดินเช่าริมบึงมักกะสัน ที่แห่งใหม่ เราอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดตั้งเป็นชุมชน เพราะการได้จัดตั้งเป็นชุมชนนั้นจะทำให้ชาวบ้านได้สิทธิความช่วยเหลือจาก หน่วยงาน มากมายไม่ว่า จะเป็น กทม. หรือจากรัฐบาล “นางจิราภรณ์ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง