ประเทศไทยสามารถเก็บสถิติสถานการณ์เด็กนอกระบบการศึกษา ปี 2566 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อมฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กับหน่วยงานด้านการศึกษา 21 แห่ง พบว่า มีเด็กอายุระระหว่าง 3-18 ปี จำนวน 12 ล้านคน
ในจำนวนนี้ ร้อยละ 8 หรือ 1,020,000 คน ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา โดย 5 อันดับ ที่มีเด็กหลุดจากระบบมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 130,000 คน รองลงมา คือ จังหวัดตาก , ชลบุรี , เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ตามลำดับ
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.บอกว่า ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคุณภาพการศึกษาไทย แต่ทีผ่านมา ยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องตามหาเด็กที่หลุดออกจากระบบ 1 ล้านคน ให้กลับมาเรียนอีกครั้ง คาดว่า จะใช้เวลา 4-5 ปี
สภาพปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สิ่งแวดล้อม สังคม และครอบครัว ยังคงเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ผู้จัดการ กสศ.เชื่อว่า ระบบการศึกษาแบบยืดหยุ่น “เข้าโรงเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา” จะช่วยตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน นอกระบบการศึกษา ค้นหาช่วยเหลือเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา
และดูแลช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout เริ่มปฏิบัติการค้นหาช่วยเหลือตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2567 นี้ ทุกจังหวัดเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน