พลตำรวจโท ธนายุตม์ วุฒิจรัสธํารงค์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และพันตำรวจเอก เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม นำสำนวนคดี นางสรารัตน์ หรือ “แอม ไซยาไนด์” ผู้ต้องหาในคดีวางยาฆ่าผู้อื่นอีก 14 คดี มอบให้แก่ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง โดยทั้งหมดกล่าวหา “แอม” ในความผิดข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน และปลอมปนอาหารยาเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นใช้ หลักการปลอมปนน่าจะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
พลตำรวจโทธนายุตม์ ระบุว่า ได้ประชุมรวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคล ผู้ชำนาญการ เชื่อมสำนวนในแผนประทุษกรรมของผู้ต้องหา การทำผิดไตร่ตรองไว้ก่อน มีมูลเหตุจูงใจวางแผนจึงมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 14 สำนวนกว่า 3 หมื่นแผ่น ซึ่งพฤติกรรมคนร้าย โหด เลือดเย็น ใช้สารเคมีในอาหารเครื่องดื่มเป็นอันตรายต่อชีวิต จนมีผู้เสียชีวิต 14 คน รอด 1 คน
พลตำรวจโท ธนายุตม์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาสำนวนตัดสินคดี น.ส.ศิริพร หรือก้อย ทีมพนักงานสอบสวนได้นำคำพิพากษามาปรึกษากัน เพื่อเชื่อมโยงและร้อยเรียงการสอบสวนรวมถึงพฤติกรรมแผนประทุษกรรมของคนร้าย ดังนั้น ขอให้ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมดมั่นใจว่า ตำรวจให้ความสำคัญทั้งหมด รวมถึงในชั้นสืบพยานคดีนี้ด้วย ส่วนคำพิพากษาอยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าจะลงโทษผู้ต้องหาอย่างไร
สำหรับการอุทธรณ์ พลตำรวจโท ธนายุตม์ ระบุ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้จนถึงชั้นฎีกา ซึ่งการทำสำนวนก็ได้ปรึกษากับอัยการตลอด ส่วนกรณีทนายพัชที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่ร่วมกับแอม ไซยาไนด์ นำกระเป๋าทรัพย์สินของกลางไปซ่อนเร้นและศาลมีคำพิพากษาไปแล้วนั้น จากพยานหลักฐานพบว่า ทนายพัชมีส่วนรู้เห็นช่วยเหลือแอมให้พ้นผิด รวมทั้งอดีตสามีที่เป็นตำรวจที่ถูกคำพิพากษาเช่นกัน ซึ่งขณะนี้สอบวินัยและให้ออกจากราชการไว้ก่อน แม้ว่าดำเนินคดีทางวินัยแล้ว ทางคดีอาญาหากศาลตัดสินก็จะมีการลงโทษแน่นอน
นายสัญจัย จันทร์ผ่อง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ถนนรัชดาภิเษก เผยว่า หลังได้รับสำนวนทั้ง 14 คดี จะตั้งอัยการขึ้นมาพิจารณาสำนวน ส่วนจะตั้งใครหรือจะต้องเป็นคณะทำงานหรือไม่จะต้องพิจารณาอีกที เรื่องกรอบระยะเวลาตอนนี้ยังไม่ได้กำหนด