คัดลอก URL แล้ว
เพื่อไทยชูธีม “ปลดพันธนาการ 6 ด้าน” สู้ศึกอภิปรายงบประมาณปี 68

เพื่อไทยชูธีม “ปลดพันธนาการ 6 ด้าน” สู้ศึกอภิปรายงบประมาณปี 68

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีรายจ่ายงบประมาณ 2568 ในวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ พรรคจะชูแนวคิด “ปลดพันธการ 6 ด้าน” ตอบสนอง 142 ประเด็นนโยบาย โดยมั่นใจ รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จัดสรรงบประมาณแต่ละกระทรวงภายใต้บริบทของประเทศที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจัดเตรียม สส.อภิปรายสนับสนุนกว่า 22 คน

โดยนายดนุพร กล่าวว่า ตนเองจะอภิปรายถึงหลักการของการจัดทำงบประมาณ 2568 ที่พัฒนาประเทศ และปิดจุดอ่อนของการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ จะอภิปรายสนับสนุนงบประมาณของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็น 1 ในหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ขณะที่นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรค กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลด้อยค่าวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยเรียกว่าเป็น Ignore Thailand ว่า คงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะการ Ignore Thailand น่าจะหมายถึงการไม่เร่งรีบตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ และปล่อยให้ประเทศเกิดสุญญากาศไป 10 เดือนมากกว่า

แต่วิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของนายกรัฐมนตรีเป็นการผลักดันนโยบายกระตุ้นเม็ดเงินเข้าประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมที่สุด เช่น กระทรวงคมนาคม หากจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการขนส่งเต็มศักยภาพ การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

ส่วนที่พรรคก้าวไกลระบุว่านโยบายของรัฐบาล “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” เมื่อโครงการทยอยประกาศออกไป นายชนินทร์ กล่าวว่า เป็นการด่วนตัดสินโดยที่ไม่มีข้อมูลรอบด้านเพียงพอ เพียงเพื่อหวังผลช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดกับประชาชน จึงขอให้พรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องมาตั้งใจอภิปรายเสนอแนะงบประมาณปี 2568 จะเป็นประโยชน์กว่าการกล่าวหาลอย ๆ

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็น 1 ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.น.66 จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และมีการแจกแจงที่มาของเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการอย่างชัดเจน ใน 3 ส่วน คือ

1.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568

2.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567

3.งบทดรองจ่ายจ่ายของสถาบันการเงินของรัฐ

“การใช้งบประมาณเพื่อนำเงินถึงมือประชาชน เกิดการจับจ่าย การจ้างงาน จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.6% รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี นอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชนด้วย” นายชนินทร์ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง