คัดลอก URL แล้ว
“ทวี-ดีเอสไอ” สอบ “วิศวกร” ถูกปลอมลายเซ็นต์คุมงานตึกสตง. หลังเข้าให้ข้อมูล

“ทวี-ดีเอสไอ” สอบ “วิศวกร” ถูกปลอมลายเซ็นต์คุมงานตึกสตง. หลังเข้าให้ข้อมูล

วันที่ 15 เมษายน 2568 นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และวุฒิสมาชิก สาขาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลกรณีถูกแอบอ้างชื่อและปลอมแปลงลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง. ที่พังถล่ม โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมรับฟังข้อมูล

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบบริษัทควบคุมงานมีชื่อวิศวกรคือนายสมเกียรติ โดยเอกสารดังกล่าวทาง สตง. เป็นผู้ชี้แจงซึ่งมีประจักษ์พยานคือ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ด้วย ทางดีเอสไอจึงเชิญ นายสมเกียรติ เข้ามาให้ข้อมูลและจะให้เซ็นเพื่อนําไปตรวจสอบว่าลายเซ็นของจริงกับของปลอมนั้นแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งถือเป็นข้อพิรุธเพราะทางวิศวกรปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายเซ็นของตัวเอง

โดยปกติแล้วหน่วยงานราชการเวลาจะสร้างอะไรก็ตามจะให้กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ แต่กรณีของตึก สตง. ทั้ง 2 หน่วยไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ เนื่องจากไม่สามารถออกแบบได้ทันตามกรอบระยะเวลา 180 วัน ซึ่งไม่ได้ผิดปกติมากนัก แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้ออกแบบตึก สตง. มีอายุ 85 ปี หลังจากนี้พนักงานสอบสวนก็จะรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ พร้อมประสานขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของสภาวิศวกรและศาลเพื่อช่วยในการคลี่คล้ายเหตุอาคารถล่มโดยเร็ว

ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ข้อมูลที่ดีเอสไอได้ในวันนี้นั้นเป็นส่วนหนึ่งในคดีนอมินีซึ่งจะเป็นประโยชน์ในภาพรวม โดยเรื่องของ นายสมเกียรติ ถือเป็น 1 ในจิ๊กซอว์ที่จะนําไปเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งการปลอมแปลงเอกสารจะเป็นสาเหตุของอะไรหลายๆอย่างหรือไม่ อาทิ การออกแบบ การควบคุมงาน ส่วนจะมีการปลอมลายเซ็นในโครงการอื่นๆก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลแต่จะต้องมีการขยายผลอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการดําเนินการเรื่อง “ฝุ่นแดง” และ “เหล็กไม่ได้มาตรฐาน” ทาง พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีฝุ่นแดงทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีหนังสือขอความร่วมมือในการสืบสวนแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา อยู่ระหว่างเสนอให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอนุมัติ ส่วนกรณีของเหล็กทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ได้เข้าเก็บหลักฐานร่วมกับดีเอสไอ อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หากพบว่าเหล็กไม่ได้มาตรฐานและมาจากที่ใดก็จะแจ้งข้อกล่าวหาดําเนินคดีเพิ่มเติม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา