คัดลอก URL แล้ว
คปธ. เดินหน้าปลดล็อกกฎหมาย เอื้อธุรกิจภาพยนตร์-ดนตรี-ชายแดน พุ่งเป้าดันเศรษฐกิจ

คปธ. เดินหน้าปลดล็อกกฎหมาย เอื้อธุรกิจภาพยนตร์-ดนตรี-ชายแดน พุ่งเป้าดันเศรษฐกิจ

นายธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกรณีที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยสรุปดังนี้

  1. การปลดล็อกกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่มีมูลค่าปีละ 7 พันล้านบาท โดยสามารถผลักดันให้เติบโตไปได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท และการจัดงานเทศกาลดนตรี ได้แก่

1.1 ยกเว้นการตรวจสอบคนต่างด้าวสัญชาติจีน กรณีเดินทางเข้ามากับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ทำให้อำนวยความสะดวกในการยื่นคำขออนุญาตทำงาน โดยในปี 2566 มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 3 จำนวน 471.98 ล้านบาท รองจากสหรัฐฯ และฮ่องกง

1.2 อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงการขออนุญาตการทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถมีผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่ได้รับมอบหมายมารับใบอนุญาตทำงานแทนได้ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.67

1.3 อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มงานเทศกาลดนตรี หรือ งานคอนเสิร์ตที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน เป็นงานอันมีลักษณะจำเป็นหรือเร่งด่วน หรือเฉพาะกิจ กรณีเข้ามาทำการแสดงไม่เกิน 15 วัน โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน เพื่อลดอุปสรรคเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้แก่คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานคอนเสิร์ต และงานเทศกาลดนตรีนานาชาติในประเทศไทย และกำลังพิจารณาที่จะขยายเวลาให้มากกว่านั้น

  1. การจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดน (One Stop Service : OSS) ในรูปแบบ Single Submission จังหวัดหนองคาย โดยขับเคลื่อนให้มีการปรับกระบวนการและพัฒนาระบบบริหารงาน และตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออก ให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเปิดใช้งานเต็มรูปแบบภายในวันที่ 1 ต.ค.67
  2. การปรับปรุงบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างเสนอธุรกิจที่ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 10 ธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1, ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.67

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ในการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการปรับปรุงบัญชีท้าย พ.ร.บ.

ด้าน น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. … ซึ่ง ครม.มีมติอนุมัติหลักการแล้ว โดยมีสาระสำคัญ เช่น การจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วนสำหรับประชาชนในการรับบริการจากหน่วยงาน, การขยายขอบเขตให้ทุกใบอนุญาต สามารถชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงาน

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้พัฒนาการให้บริการประชาชนในรูปแบบ e- Service และลดขั้นตอนและระยะเวลาการอนุญาต ด้านอาหาร ด้านยา ด้านเครื่องมือแพทย์ ทั้งการจดทะเบียนสถานประกอบการ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ด้านนายกุลเทพ นฤหล้า นายกสมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ เห็นว่า การปรับปรุงกฎหมาย ทั้งการติดต่อขออนุญาตเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอางเพื่อมาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ การปลดล็อกข้อจำกัดของการรับใบอนุญาตทำงานของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ต้องรับใบอนุญาตทำงานที่นายทะเบียนออกให้ด้วยตนเอง เป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์กับภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ ทำให้การยื่นคำขออนุญาตต่าง ๆ เกิดความสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระเรื่องต้นทุนได้มาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง