คัดลอก URL แล้ว
“พิธา” ติง กกต.ยื่นยุบก้าวไกล ใช้คดี “ไทยรักษาชาติ” เป็นบรรทัดฐานไม่ได้

“พิธา” ติง กกต.ยื่นยุบก้าวไกล ใช้คดี “ไทยรักษาชาติ” เป็นบรรทัดฐานไม่ได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงยืนยันว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ได้ดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 จึงไม่มีเหตุต้องไต่สวน ซึ่งทำเช่นเดียวกับกรณีพรรคไทยรักษาชาติ
นายพิธา ระบุว่า กกต. จะนำคดีของ “พรรคไทยรักษาชาติ” มาอ้างไม่ได้ เพราะคดีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยประเด็นกระบวนการการยื่นคำร้องเป็นประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด ดังนั้น ในคดีดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นบรรทัดฐานได้ แตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ (กู้เงิน) ที่ศาลได้วินิจฉัยความเกี่ยวเนื่องของมาตรา 92 และมาตรา 93 เป็นประเด็นแห่งคดีไว้

ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ วางหลักว่ากระบวนการตามมาตรา 93 เกี่ยวเนื่องกับการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพียงแต่ขณะนั้นใช้ระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 ซึ่งกำหนดเรื่องกระบวนการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 ให้นำระเบียบสืบสวนไต่สวนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

โดยระเบียบสืบสวนไต่สวนดังกล่าว เป็นระเบียบที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งกำหนดให้ กกต. แจ้งข้อกล่าวหาก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การนำมาใช้โดยอนุโลม คือไม่ต้องนำทุกข้อมาใช้บังคับแก่กรณี ดังนั้น กกต. จึงไม่แจ้งข้อหาก่อน ย่อมถูกต้องแล้ว

แต่ปัจจุบัน ระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองปี 2566 ออกมาใช้บังคับกับกรณีการยื่นคำร้องตาม มาตรา 92 และมาตรา 93 ดังนั้น การเสนอคำร้องตาม มาตรา 92 จึงต้องดำเนินการตามระเบียบ ปี 2566 อย่างเคร่งครัด

“ดังนั้น มาตรา 92 กับ มาตรา 93 ต้องใช้ประกอบกัน แยกเป็นเอกเทศไม่ได้” นายพิธา ระบุ

นายพิธา กล่าวว่า หลักการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ คือไม่ควรล้นเกิน แต่ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมและการถ่วงดุลกัน การยื่นคำร้องยุบพรรค ระบบกฎหมายกำหนดให้เป็นการแสดงเจตนาของ “องค์กรร่วม” เสมอมา เพื่อให้กระบวนการมีการกลั่นกรองและถ่วงดุลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป ก่อนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง