วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เมื่อเวลา 14.30 น. นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เรียกประชุมด่วน 4 หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้เลี้ยง ผู้ชำแหละ ผู้ส่งออก และ ห้างสรรพสินค้า เพื่อเร่งค้นหาต้นตอ ราคาไก่แพง ประกอบ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เนื้อเพื่อการส่งออก ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และห้างค้าส่งค้าปลีก
ภายหลังการประชุม นายกรนิจ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ราคาไก่เนื้อเพิ่มขึ้นมาจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไก่เนื้อประสบปัญหาขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกยุโรป-ญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% (ญี่ปุ่น สะโพกขายดี, สหรัฐอเมริกา อกไก่ขายดี) จึงทำให้ความต้องการไก่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้สาเหตุหลักมาจาก สภาพอากาศร้อนขึ้น ทำให้น้ำหนักไก่ลดลง เฉลี่ยตัวละ 5% ทำให้ระยะเวลาเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น 3-5 วัน กว่าจะได้ขนาด 2.4 กิโลกรัม ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระ จึงมีการปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้อง จากเดิมใช้เวลา 39-42 วัน เพิ่มเป็น 47 วัน ผู้เลี้ยงจึงปรับขึ้นราคาขึ้น เฉพาะส่วนสะโพก และอกไก่ ทั้ง 4 ฝ่าย ยันว่า ราคานี้เป็นราคาที่อยู่ในระดับที่พอใจแล้ว เบื้องต้น กรมการค้าภายใน จึงสั่งให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายตรึงราคาจะไม่ปรับขึ้นราคาอีก
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า หลังจากนี้ ผู้เลี้ยง ยืนยันว่า ปริมาณเนื้อไก่จะเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ เบื้องต้นผู้เลี้ยงได้เร่งกระบวนการผลิตไก่ เพิ่มลูกไก่ให้มากขึ้น ยืนยันว่า ลูกไก่จะโตทันกรอบระยะเวลา 39-42 วัน โดยคาดว่าไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปริมาณไก่เนื้อจะกลับสู่สภาวะปกติ
ส่วนมาตรการของกรมการค้าภายใน เบื้องต้น กำชับให้ผู้เลี้ยงเร่งการผลิต ส่วนผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า กำชับให้ตรึงราคาชิ้นส่วนสะโพก และอกไก่ไว้ก่อน ห้ามปรับขึ้นราคาเด็ดขาด รวมถึงเร่งจัดทำโปรโมชั่นลดราคาเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในจะติดตามสถานการณ์ราคาไก่ทุกวัน