คัดลอก URL แล้ว
ผลสำรวจ สศช. เผย คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องยื่น-เสียภาษี

ผลสำรวจ สศช. เผย คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องยื่น-เสียภาษี

การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในด้านความครอบคลุมและครบถ้วน เนื่องจากมีแรงงานไทยมากกว่าครึ่งที่เป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัด และเป็นช่องทางให้บางกลุ่มเลือกไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบฯ แต่อาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่น เช่น ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ จากการสำรวจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับศูนย์วิจัยฯ พบว่ามีเพียงร้อยละ 35.7 ของกลุ่มตัวอย่างที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ ขณะที่ร้อยละ 50.5 ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่น โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่สูงนัก เป็นแรงงานนอกระบบ และมีรายได้เฉลี่ยไม่สูงมาก

เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่าคนไทยโดยภาพรวมมีความรู้ในระดับต่ำ บางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ทราบรายละเอียดต่างๆ เช่น การได้รับยกเว้นภาษี เป็นต้น

ด้านทัศนคติต่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี คนไทยส่วนใหญ่มองว่ามีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากปัญหาต่างๆ เช่น ระบบตรวจสอบไม่ครอบคลุม มีการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำต่ำเกินไป ฯลฯ อย่างไรก็ดี ประมาณร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่างพร้อมที่จะยื่นแบบฯและเสียภาษีหากมีรายได้ถึงเกณฑ์หรือได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น

ปัจจัยจูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ ของกลุ่มที่ยื่นแบบฯอยู่แล้วคือความสะดวกในการกรอกข้อมูล ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นต้องการไม่ถูกตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง ส่วนปัจจัยจูงใจให้เสียภาษีคือการมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่า ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแล้วจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการจากรัฐมากกว่า

ดังนั้น แนวทางพัฒนาการจัดเก็บภาษีฯ อาจต้องดำเนินการดังนี้

  1. สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน
  2. สร้างการรับรู้เรื่องการนำภาษีไปใช้ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
  3. ส่งเสริมการเข้าสู่ระบบภาษีโดยสมัครใจ
  4. ตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด
  5. อำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ มากขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายฐานภาษีในระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง