คัดลอก URL แล้ว
“เนื้อสัตว์-ผัก” ถูกลง “เงินเฟ้อ” ก.พ. 67 ติดลบ 0.77%

“เนื้อสัตว์-ผัก” ถูกลง “เงินเฟ้อ” ก.พ. 67 ติดลบ 0.77%

วันที่ 5 มีนาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน กุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับ 107.22 เทียบกับ มกราคม 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 เทียบกับเดือน กุมภาพันธ์ 2566 ลดลงร้อยละ 0.77 เป็นการลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 5

โดยสาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก และราคาปรับลดลง รวมทั้งน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

ส่วนสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ และหากรวมเงินเฟ้อ 2 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลงร้อยละ 0.94

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ก.พ.2567 ที่ลดลงร้อยละ 0.77 มาจากการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.97 ตามการลดลงของราคาเนื้อสุกร ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง ผักสด เช่นมะนาว แตงกวา ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี

เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงน้ำมันพืช และน้ำปลา ราคาปรับลดลง ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ครีมเทียม ผลไม้บางประเภท อาทิ แตงโม กล้วยหอม มะม่วง รวมทั้ง น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน

ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.63 เนื่องจากน้ำมันในกลุ่มดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เสื้อผ้าบุรุษและสตรี สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เครื่องใช้ไฟฟ้า สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ราคาปรับลดลง

โดยสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เช่น แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน ยาแก้ไข้หวัด ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาโรค ค่าทัศนาจรต่างประเทศ ค่าโดยสารเครื่องบิน บุหรี่ สุรา และไวน์

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค.2567 คาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่อง และไตรมาสแรกปี 2567 เงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ลดลง 0.7-0.8% และเดือน เม.ย.2567 ก็จะยังลด

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ที่มีการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เม.ย.2567 และเศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

โดยจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัว 1.7% และทั้งปี 2566 ขยายตัว 1.9% แต่เงินเฟ้อจะเริ่มเป็นบวกในเดือน พ.ค.2567 เพราะฐานเดือน พ.ค.2567 อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการช่วยช่วยค่าครองชีพ โดยเฉพาะน้ำมันจะสิ้นสุด 19 เม.ย.2567 และค่าไฟฟ้าสิ้นสุด 30 เม.ย.2567 ซึ่งต้องติดตามมาตรการรัฐต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น

รวมถึงสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างลบร้อยละ 0.3 -1.7ค่ากลางร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง