“ศูนย์กลางการบิน หรือ ฮับการบิน” เป็น 1 ใน 8 วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง ประกาศเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก พร้อมเพิ่มขีดศักยภาพรองรับ ผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 150 ล้านคนต่อปี
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทย มีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบิน นั่นเพราะ ที่ตั้ง ที่อยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน และได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีการบินอาเซียน
ในงาน IGNITE THAILAND, Aviation Hub นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลเชื่อว่าไทย มีความพร้อมในการเป็นฮับการบินของโลก แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาที่ต้องแก้ไข สะท้อนได้จาก เมื่อปี 2548 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 13 ของโลก แต่วันนี้ ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 68 โดยมองว่า มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เที่ยวบินในบางเส้นทางยังไม่เพียงพอ, ค่าธรรมเนียมการลงจอดสูง และ ความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ไทยต้องแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ เพราะถ้าไม่ทำอะไร ก็มีความเสี่ยงที่อันดับจะแย่กว่านี้
ทั้งนี้ แผนงานในระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ แก้ไขปัญหาสุวรรณภูมิ
นอกจากนี้ ต้องสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งจะทำให้เสร็จในเดือนตุลาคมนี้ หรือ เร็วกว่า ลดเวลาจุดตรวจสอบต่างๆ ของผู้โดยสาร การให้บริการเครื่องเช็คอินด้วยตัวเองและเครื่องโหลดกระเป๋าอัตโนมัติ เพิ่มจำนวนบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นในท่าอากาศยาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากเป้าหมายการพัฒนาให้ไทยเป็นฮับการบิน กระทรวงคมนาคม ได้มีการจัดทำแผนงาน ระยะสั้น ระยะยาว และ ผู้รับผิดชอบงานแล้ว
ด้าน บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT รายงานว่า ในการเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยเป็นฮับด้านการบิน
ปี 2567 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี
โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 60 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ขณะเดียวกัน AOT จะพัฒนาสนามบินท้องถิ่นให้เป็นฮับการบินภูมิภาค เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางการบิน และบรรเทาปริมาณการจราจรทางอากาศที่หนาแน่นในสนามบินหลักของประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่เมืองรอง
นอกจากเพิ่มศักยภาพการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ก็จะมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศ และดำเนินโครงการขยายอาคารคลังสินค้าให้รองรับปริมาณสินค้าได้กว่า 3 ล้าน 5 แสนตันต่อปี รวมถึงโครงการก่อสร้างคลังสินค้าใกล้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 หรือ SAT-2 Cargo ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ
ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้รับลูกต่อจากนโยบายดังกล่าว ดำเนินการจัดงาน “AIR-MAZING THAILAND : THE AMAZING AIRLINE FAM TRIP” ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2567 เพื่อสำรวจศักยภาพและความพร้อมของ สนามบินนานาชาติในไทย ทั้งการรองรับและอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยว