วันนี้ (14 ก.พ.67) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงแนวทางการพักโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในการพักโทษ นั้น ตาม หลักการคือ เมื่อรับโทษมาแล้ว ครึ่งปี ก็เท่ากับ 6 เดือน คือ ให้นำ 30 วันไปคูณ เราก็นับไปว่าครบ 6 เดือน วันไหน และ วันถัดไปหลังจากวันครบ 6 เดือน ก็คือวันปล่อย
สำหรับแนวปฏิบัติของ กรมราชทัณฑ์ เนื่องจาก ว่าต้องประสาน กับหลายส่วนด้วย ผู้ต้องขัง ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ถ้าได้รับการพักโทษ หากติดวันเสาร์อาทิตย์ บางที่ได้มีการประสานกับคุมประพฤติ ไว้แล้ว ก็สามารถปล่อยตัวในวันเสาร์ อาทิตย์ ได้เลย แต่ถ้าบางที่ หากคุมประพฤติยังไม่พร้อมก็จะอาจจะต้องไปปล่อยตัวในวันปกติ
ทั้งนี้ ในการพักโทษไม่จำเป็นต้องรายงานต่อศาล เพราะผู้ต้องขัง ยังอยู่ในคำพิพากษาของศาลและกรมราชทัณฑ์ก็ยังคงปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลไม่ต้องขอหมายปล่อยจากศาลแต่เป็นการพักโทษในรูปแบบที่ ไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ และ สามารถกลับไปอยู่ในสังคมหรือไปอยู่ที่บ้านได้
ส่วนในช่วงเวลารับโทษที่เหลืออยู่ตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนด ว่า ผู้ที่ได้รับการพักโทษ จะต้องปฏิบัติอย่างไร มีข้อห้ามอย่างไร และมีข้อที่จะต้องพึงระวังอย่างไร รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ คุมประพฤติก็จะเป็นผู้กำหนดให้กับผู้ที่ได้รับการพักโทษ ได้ทราบถึงแนวปฏิบัติ
รักษาการราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับ นายทักษิณ ซึ่งมีอายุ เกิน 70 ปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ ตามมติของกรรมการมาอย่างยาวนานว่า ผู้ที่เจ็บป่วยพิการอายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องติดกำไร EM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไขที่มีการประเมิน มีข้อมูลเก็บมาตลอดว่าคนในกลุ่มนี้ไม่เคยทำผิดซ้ำ พร้อมยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด