ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา สำหรับโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” รัฐมนตรีช่วยคลัง คาดการณ์ว่า กฤษฎีกา จะให้คำตอบ ต้นปี 2567นี้
คู่ขนานกันนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน กำลังตรวจสอบเช่นกัน โดยรอให้รัฐบาลส่งข้อเท็จจริงข้อคิดเห็นมาให้ภายใน 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดมกราคม 2567 หากขั้นตอนดำเนินการขัดกฎหมาย ก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเปิดเผยความคืบหน้า การยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีดำเนินการตามโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท และกรณีรัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการ แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังหรือไม่
โดยผู้ตรวจการฯ อยู่ระหว่างสอบถามความชัดเจนของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย และสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวนโยบายดังกล่าว เพื่อนำมาประมวลเข้ากับข้อกฎหมายว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร
หลังได้รับข้อมูลการชี้แจงของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆเรียบร้อยแล้ว จะประชุมเพื่อหารือร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์และดูข้อกฎหมายว่านโยบายนี้เป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ได้แจ้งขอรายละเอียดไปแล้ว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย อยู่ระหว่างรอรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ให้ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น เพื่อนำมาประมวลและวิเคราะห์ร่วมกัน
ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติให้เวลาชี้แจงประมาณ 30 วัน ซึ่งจะครบ 30 วันประมาณเดือนมกราคม 2567 ถ้าข้อเท็จจริงครบถ้วน การพิจารณาดูข้อกฎหมายคงใช้เวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและความเห็นของหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้ จะพยายามให้ได้ผลการพิจารณาออกมาโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลกระทบ ต่อประชาชน
สำหรับขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ หากไม่ขัดกับกฎหมายก็ต้องยุติเรื่อง ถ้าขัดกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ต้องส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้…อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 12 แล้ว
คาดว่า กระทรวงการคลังจะได้รับคำตอบกลับมาในช่วงต้นปี 67 และยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต ได้อย่างแน่นอน
ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันว่า เศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤตนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจ