โฆษกศาลยุติธรรม กางไทม์ไลน์ ศาลฎีกาใช้เวลา”1 ปี 5 เดือน” เท่านั้น ในการพิจารณา-พิพากษา คดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ใช่ 12 ปี ตามที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตกัน
ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เชื่อว่าข้อสังเกตการรับโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นเหตุเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล โดยชี้ว่า ทันทีที่วุฒิสภาหมดวาระในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น
นอกจากคำยืนยัน จากผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ที่จะทำหน้าที่ติดตาม-ตรวจสอบรัฐบาลแล้ว ยังคาดการณ์ถึงสถานการณ์การเมือง ปี 2567
โดยชี้ว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถผลักดันผลงาน ให้ประชาชนพึงพอใจได้ และกรณีการรับโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเป็นข้อเคลือบแคลงสงสัย จะเป็นประเด็นเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาล
พร้อมหยิบยก ระเบียบ การคุมขังในสถานที่คุมขัง ปี 2566 มาอ้างอิงถึงการให้อำนาจคณะทำงานใช้ดุลยพินิจแทนการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ชัดจน ที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
ขณะที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า มีเพียงเศรษฐกิจโลกเท่านั้น ที่จะเป็นปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2567 โดยมั่นใจว่า เสถียรภาพของรัฐบาลมั่นคงเพียงพอแล้ว
หากจะปรับ ครม.หรือดึงพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่ม จะต้องมาจากเหตุผลเรื่องของ “คนกับงาน” เพื่อความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งไม่มีเหตุผลทางการเมืองที่จะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
ส่วนกรณีการรับโทษของนายทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวขานว่าเป็น “นักโทษเทวดา” นั่นคือข้อครหาที่พิสูจน์ได้จากขั้นตอนที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยยึดหลักนิติธรรม
ขณะเดียวกัน นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ออกเอกสารชี้แจง การพิจารณา-พิพากษาคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เหตุแต่งตั้ง-โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี ด้วยช่วงเวลา 1 ปี 5 เดือนเศษเท่านั้น ไม่ได้ใช้เวลาเนิ่นนาน จนทำให้มีผลเหมือนการอำนวยความยุติธรรมที่ล่าช้า ตามที่เกิดข้อครหากัน
คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนก คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 20 กรกฎาคม ปี 2565 และศาลฯ ได้รับไว้ โดยนัดพิจารณาครั้งแรก 21 พฤศจิกายนในปีนั้น และนัดตรวจพยาน 14 มีนาคม ปี 2566 นัดไต่สวน 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เดิมนัดฟังคำพิพากษา 9 พฤศจิกายน แต่มีเหตุองค์คณะถึงแก่กรรม ทำต้องแต่งตั้งใหม่ทดแทน และนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา