วันนี้ (19 ธันวาคม 2566) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการที่ดำเนินในช่วงเดือนกันยายนยน 2566 ถึงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและด้านไฟฟ้า
- (1) ราคาน้ำมันดีเซล บริหารราคาน้ำมันดีเซลในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
- (2) ราคา LPG บริหารราคาในการตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
- (3) ให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยต่อไป
- (4) ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็น กลุ่มเปราะบาง จะคงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (คือลดไป 21 สตางค์ต่อหน่วย) ซึ่งจะเป็นการลดเป็นเวลา 4 เดือน ครอบคลุมรอบบิล มกราคม – เมษายน 2567 โดยคาดว่าจะมีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรวมทั้งสิ้นประมาณ 17.77 ล้านราย โดยรัฐจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 487.50 ล้านบาทต่อเดือน (ประมาณ 1,950 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน)
รองโฆษกฯ รัดเกล้า ย้ำว่า “สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางนั้น ขอความเข้าใจว่ามีความจำเป็นต้องให้ราคาขึ้นจากเดิมที่ลดไว้ด้วยเหตุหลายๆ ปัจจัย แต่ทางรัฐบาลจะพยายามให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย และจะแจ้งให้ทราบหลังจากได้เห็นราคาก๊าซ ณ วันที่ 1 มกราคม 2567 อีกที
โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวย้ำว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเหล่านี้ เป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนระยะสั้น บนระบบและโครงสร้างราคาพลังงานที่มีการใช้มากว่า 40 ปี ในส่วนของการดำเนินการระยะยาวนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะมาทำงานเพื่อปรับทั้งระบบและโครงสร้างราคาพลังงานแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้ประชาชน”