วันที่ 18 ธันวาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่าน ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตรวจยึดของกลางกว่า 13 รายการ มูลค่ากว่า 240,000 บาท
สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2565 ปรากฏข่าวมีเด็กจำนวน 6 คน ได้รับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อ แล้วมีอาหารคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงมีมาตรการเชิงรุก โดยการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ที่อาจซื้อมารับประทานและได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือเสียชีวิตเรื่อยมา
โดยต่อมาจากการสืบสวนหาข่าว พบว่ามีโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนแห่งหนึ่ง ย่าน จ.ปุทมธานี มีการลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็คบรรจุส่งขายตามตลาดนัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นดังกล่าว
ในการตรวจค้นครั้งนี้พบว่าโรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต ตวง และผสมส่วนผสมต่างๆ ในการผลิตลูกชิ้นโดยไม่สวมหมวกคลุมศีรษะและถุงมือเพื่อรักษาความสะอาดแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังพบว่า ขาดสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูที่มีการโฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้นั้น พบว่า เจ้าของโรงงานได้ลักลอบนำเนื้อไก่มาผสมกับเศษของเนื้อหมูเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและ อาจซื้อไปบริโภคได้โดยไม่ทราบถึงส่วนผสมที่แท้จริงของอาหารที่รับประทานเข้าไป
ซึ่งนางสาวธันย์ดารินทร์ฯ รับสารภาพว่า ได้ทำการผลิตลูกชิ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจาก อย.และ สสจ.ปทุมธานี แต่อย่างใด โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) ซึ่งเศษเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบซื้อมาจากตลาดไท โดยมีการผสมสารฟอกขาว (titanium Dioxide) และ วัตถุกันเสีย (Sodium benzoate) แล้วนำมาผลิตเป็นลูกชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมกว่า 10 แห่ง
อาทิเช่น ห้วยขวาง, ลาดปลาเค้า, สายไหม, ตลิ่งชัน, ตลาดยิ่งเจริญ, ตลาดฐานเพชรปทุมธานี และ สามโคก ปทุมธานี ฯลฯ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่รับลูกชิ้นไปจำหน่าย คือ กลุ่มขายส่งวัตถุดิบสำหรับขายบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นวันละประมาณ 200 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 3,000 กิโลกรัม
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท