‘Gaslighting’ ประโยคนี้หากใครเคยชมภาพยนต์เรื่อง Gaslight เมื่อปี ค.ศ. 1944 คงคุ้นๆ หูอยู่บ้าง ในเรื่องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตสามีภรรยาคู่หนึ่ง โดยสามีต้องการครอบครองสมบัติของภรรยา จึงได้ใช้วิธีหลอกให้เธอเชื่อว่า เธอมีอาการทางจิต ด้วยทริคทางจิตใจที่แยบยล ซึ่งเหนือกว่าการโกหกแบบธรรมดาๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีที่เรียกว่า ‘Gaslighting’ ไปทำความรู้จักกันว่ามันคืออะไร พฤติกรรมเป็นแบบไหน และจะป้องกันอย่างไรได้บ้าง
พฤติกรรม “Gaslighting” คืออะไร
พฤติกรรม “Gaslighting” เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ หรือการปั่นหัวเหยื่อให้หลงผิด โดยมี 4 พฤติกรรม ไปทำความรู้จักกัน
- การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรื่องของตัวเองไม่ใช่เรื่องสำคัญ
- ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเป็นคนผิด
- การไม่ยอมรับความจริง
- การบิดเบือนความจริงให้อีกฝ่ายรู้สึกสับสนกับความจริง
การปั่นหัวเหยื่อด้วยรูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นการควบคุมจิตใจอย่างรุนแรง เพื่อหลอกลวงและชี้นำให้อีกฝ่ายสงสัย ไม่มั่นใจ และสับสนในความคิดของตัวเอง ซึ่งฝ่ายที่เป็นคนกระทำจะควบคุมให้เหยื่อทำตามที่ตัวเองต้องการ หากรู้ตัวว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของ “Gaslighting” สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตัดความสัมพันธ์ทันที เพราะอาจส่งผลให้เหยื่อเกิดความผิดปกติทางจิตใจ วิตกกังวล และกลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้
สัญญาณเตือน Gaslighting
- คุณเป็นฝ่ายที่ต้องเอ่ยคำขอโทษตลอดเวลา เพราะคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคุณ
- ทำอะไรก็ผิดเสมอ เชื่อว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกได้
- รู้สึกกังวลตลอดเวลา หวาดกลัวว่าจะทำผิดหรือไม่ถูกใจใคร
- สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
- สูญเสียความเป็นตัวตน
- ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดและการตัดสินใจของตนเองตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ
- รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้กำลัง รู้สึกว่าตนไม่เหมือนใคร แตกต่างและแปลกแยก
- ผิดหวังในตนเอง และกลัวผู้อื่นจะผิดหวังในตัวคุณ
วิธีป้องกัน Gaslighting การระมัดระวังไม่ให้ถูกทำลายความมั่นใจ
- เว้นระยะห่าง ถอยห่างจากความรู้สึกสงสัยในตนเอง เดินออกจากสถานการณ์เหล่านั้นหรือให้เวลาตนเองได้หายใจลึกๆ เพื่อผ่อนคลายและมีเวลาใช้ความคิด เพื่อทบทวนว่ากำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไร
- เก็บหลักฐาน เพราะ gaslighting มักทำให้คุณต้องสงสัยในตัวคุณเอง จะช่วยให้คุณสามารถยืนยันกับตนเองและสถานการณ์ตรงหน้าได้ว่าไม่ใช่เพียงแค่ความคิดเห็นของคุณฝ่ายเดียว
- ใช้มุมมองที่ 3 มุมมองของคนที่อยู่ภายนอกสถานการณ์ อาจช่วยให้คุณมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเรื่องราวเหล่านั้น
- ถอยห่างจากความสัมพันธ์ แม้จะเป็นหนทางที่ยากในการกระทำได้จริง หากพบสัญญาณเตือนและพบว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะแก้ไขได้ การจบความสัมพันธ์นั้นอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : .psy.chula