คัดลอก URL แล้ว
กฤษฎีกาแนะ “ปรับเป็นพินัย” แก้ปัญหาใบสั่งค้างจ่าย 16 ล้านใบ

กฤษฎีกาแนะ “ปรับเป็นพินัย” แก้ปัญหาใบสั่งค้างจ่าย 16 ล้านใบ

ปัญหาใบสั่งจราจรค้างจ่ายค่าปรับ เป็นปัญหาที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามหาทางแก้มาโดยตลอด โดยปีนี้มีใบสั่งจราจรค้างจ่าย 16 ล้านใบ ความผิดที่พบมากสุดอันดับหนึ่งคือ ขับรถเร็ว รองลงมาฝ่าฝืนสัญญาณไฟ และยังมีขับฝ่าเส้นทึบ โดยล่าสุดปีนี้ไปประสานกับกรมการขนส่งทางบก ถ้ามีใบสั่งจราจรค้างจ่าย เมื่อไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนรถยนต์จะไม่ออกป้ายภาษีตัวจริงให้ จะได้เพียงหลักฐานชั่วคราวใช้แทนได้ 30 วันเท่านั้น ยกเว้นจะจ่ายค่าปรับตามใบสั่งจราจรที่ค้างอยู่ทั้งหมด ตรงนี้ค่าปรับจราจรอย่างขับฝ่าไฟแดงปรับสูงสุด 4,000 บาท บางคนมีใบสั่งจราจร 2-3ใบ ปรับเป็นเงินสูงก็ไม่มีเงินไปเสียค่าปรับได้

เรื่องนี้ ทางกฤษฎีกามีข้อแนะนำไปถึงตำรวจให้ใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยนางสาวธำรงลักษณ์ ลาพินี กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นหนึ่งในกฎหมายที่เปลี่ยนจากคดีอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว มาเป็นโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งการกำหนดค่าปรับมีหลักเกณฑ์พิจารณา 4 เรื่องคือ พิจารณาว่าการทำผิดกระทบต่อสังคมแค่ไหน เพราะกฎหมายต้องการให้สังคมอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย 2.ดูพฤติกรรมผู้กระทำผิด ทำผิดซ้ำซากหรือไม่ 3.ผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำผิด และ 4.ต้องพิจารณาถึงฐานะผู้กระทำผิดด้วย ก่อนจะนำมากำหนดค่าปรับ เมื่อกำหนดค่าปรับแล้วไม่มีเงินจ่าย จะส่งตัวให้อัยการ ไม่มีมาให้กักขังแทนค่าปรับ ไม่ต้องถูกควบคุมตัว 48 ชม.ที่โรงพักเหมือนคดีอาญาที่ต้องรอให้พนักงานสอบสวนทำสำนวน

ดังนั้นจึงไม่ต้องถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม เพราะพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย กำหนดให้นำตัวผู้กระทำผิดส่งอัยการ ในชั้นอัยการจะพิจารณาอีกชั้นว่าข้อกล่าวหาค่าปรับเหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าเหมาะสมก็ส่งไปให้ศาลพิจารณา เมื่อไปถึงชั้นศาลแล้ว ยังขอศาลให้ลดค่าปรับ หรือเปลี่ยนค่าปรับเป็นการทำงานบริการสังคมได้ หรือถ้ายากจนจริงๆ มีหลักฐาน ขอศาลไม่จ่ายค่าปรับ ให้ศาลลงโทษตักเตือนได้ ดังนั้นใบสั่งจราจรที่ค้างจ่าย ทางกฤษฎีกาเห็นว่า คดีจราจรที่ปรับมาใช้โทษปรับทางพินัยสามารถทำได้เลย

นอกจากนี้ กฎหมายยังให้สิทธิประชาชน 2 ขั้นตอนคือ ก่อนออกคำสั่งปรับ ประชาชนมีสิทธิโต้แย้งไปหาหลักฐานมายืนยันได้ แต่หากตำรวจจะสั่งปรับอีกต้อออกคำสั่งทำเป็นหนังสือ ส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเท่านั้น และในแบบฟอร์มของหนังสือคำสั่ง ต้องมีรายละเอียด ข้อกล่าวหา พฤติกรรมที่ทำผิด บทกำหนดโทษค่าปรับที่กฎหมายกำหนด และค่าปรับที่เจ้าหน้าที่สั่งปรับจริงว่าเท่าไหร่ ต้อกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าปรับอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 15 วันและไม่เกิน 30 วัน รวมทั้งต้องแจ้งสิทธิ์ด้วยว่ามีสิทธิขอผ่อนชำระ หรือสามารถส่งคำขอให้เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล ออกคำสั่งเปลี่ยนค่าปรับไปทำงานบริการสังคม หรือกรณีที่ยากจนเหลือทนทาน จะขอให้ศาลสั่งปรับต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ตรงนี้ต้องแจ้งในตัวคำสั่ง ทำให้มีคำถามว่าแล้วใบสั่งจราจรที่ค้างจ่ายแบบฟอร์ม หรือ ขั้นตอนต้องเริ่มใหม่หรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย กำหนดไว้ว่าหลังมีผลบังคับใช้ บรรดาคดีค้างเก่าให้เปลี่ยนมาใช้โทษปรับทางพินัยได้เลย ซึ่งกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานกฤษฎีกาจะมีประชุมเรื่องดังกล่าวในวันที่ 3 พ.ย. 66


ข่าวที่เกี่ยวข้อง