อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายคดีหลอกร่วมลงทุนของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ร้องกองปราบ เร่งตรวจสอบจดหมายหลุดจากกรมราชทัณฑ์ โน้มน้าวผู้เสียหายถอนแจ้งความ
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนผู้เสียหาย คดีนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก หลอกร่วมลงทุนฯ นำเอกสารหลักฐานซึ่งเป็นจดหมายของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ที่เขียนด้วยลายมือและมีตราประทับว่าผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ส่งให้กลุ่มผู้เสียหายในคดีกว่า 200 คนมายื่นให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ดำเนินการตรวจสอบ ว่าเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นของจริงและเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่
โดย นายแทนคุณ กล่าวว่า คดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ความเสียหายหลักพันล้านบาท ซึ่งคดีนี้อยู่ในกระบวนการของศาล และทรัพย์สินของนายประสิทธิ์ฯ ถูก ป.ป.ง. ดำเนินการยึดทรัพย์เพื่อนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหาย อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายประสิทธิ์ ออกมาระบุเองว่าไม่มีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่แล้ว แต่เหตุใดวันนี้กลับมีจดหมายฉบับนี้ออกมา ซึ่งเนื้อหาสาระในจดหมายมีการโน้มน้าวให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความ และระบุว่าจะเริ่มทยอยจ่ายเงินคืนให้กับผู้เสียหายที่ถอนแจ้งความแล้ว จำนวน 5 รอบ โดยรอบแรกจ่ายในวันที่ 29-31 มีนาคม 2566 และรอบที่สองวันที่ 1-15 มกราคม 2567 โดยมอบอำนาจให้ บุคคลหนึ่งซึ่งเป็นคนสนิทของนายประสิทธิ์ ซึ่งนายแทนคุณ ระบุว่า บุคคลดังกล่าวเป็นอดีตผู้สมัคร สส. กทม. เป็นผู้ดำเนินการประสานงานให้นายประสิทธิ์กับผู้เสียหาย
นอกจากนี้ นายแทนคุณ ยังระบุว่า จากเอกสารที่ค้นหามาได้พบว่า หลังจากนายประสิทธิ์ ถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่ 1 ในบริษัทย่านอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ กลับมีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการบริหารจากนายประสิทธิ์เป็นบุคคลอื่น ซึ่งหากทรัพย์สินของนายประสิทธิ์ ถูกอายัดทั้งหมดแล้ว แต่ทำไมถึงยังมีการดำเนินการในกิจการดังกล่าวอยู่และมีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาได้ จึงอยากฝากให้พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว และขอให้เร่งรัดคดีกลุ่มบุคคลซึ่งให้ความช่วยเหลือนายประสิทธิ์ หลบหนีออกจากศาลในระหว่างพิจารณาคดีที่ศาลอาญารัชดา และทำการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์มีความเกี่ยวข้องในทั้ง 2 ประเด็นหรือไม่ ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับจดหมายโน้มน้าวให้ถอนแจ้งความ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำจดหมายฉบับนี้ไปปรึกษาอัยการ และทางอัยการระบุว่าเอกสารเหล่านี้ถือเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายซ้ำซาก และกรมราชทัณฑ์ปล่อยให้จดหมายฉบับนี้หลุดออกมาจากเรือนจำไปถึงผู้เสียหายได้อย่างไร จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อคดี เพราะล่าสุดมีบุคคลที่เชื่อมั่นในจดหมายดังกล่าว ยอมถอนแจ้งความกว่า 100 ราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคดี พนักงานสอบสวนไม่สามารถสรุปสำนวนคดีได้ ต้องกลับไปแก้ไขสำนวนใหม่ เพราะมีผู้เสียหายถอนแจ้งความเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อมีผู้ถอนแจ้งความ สำนวนก็จะไม่เสร็จสิ้น คดีไม่เดินหน้า ผู้เสียหายที่รอการเยียวยาจากภาครัฐก็ไม่สามารถได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามยังไม่พบข้อมูลหรือการยืนยันว่ามีผู้เสียหายได้รับเงินคืนตามรอบที่ระบุไว้ในจดหมายหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเอกสารพบว่า มีบางข้อความในจดหมายจากนายประสิทธิ์ระบุอย่างชัดเจนว่า “หากตนไม่ได้รับการประกันตัวตามกำหนด ให้ระงับการจ่ายเงินเยียวยาหรือเลื่อนการชำระออกไปตามความเหมาะสม พร้อมจะค้นหาวิธีโดยตนเองขึ้นอีกครั้งเพื่อกลับคืนสู่ทุกท่าน แม้จะยืดออกไปบ้างแต่ทุกอย่างจะให้เช่นเดิมตามสัญญา”