นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลช่วงบ่ายวันนี้ ว่า หลังการประชุมสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้รับรายงานจากอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 18 ราย ซึ่งต้องรอทางการอิสราเอลยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 9 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันอีก 11 รายเช่นเดิม
ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,862 คน และผู้ประสงค์ยังไม่กลับจำนวน 52 คน
ขณะนี้ทางการอิสราเอลได้เคลื่อนย้ายพลเรือนออกจากพื้นที่ไม่ปลอดภัย ไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งรวมถึงพี่น้องแรงงานไทยด้วย และนำไปให้ทำงานกับนายจ้างใหม่ เพื่อจะได้มีรายได้ในระหว่างที่อยู่อิสราเอล โดยขณะนี้ยังอยู่ในสภาวะสถานการณ์กดดันและตึงเครียด ซึ่งจะต้องดูจังหวะที่เหมาะสมในการให้แรงงานเริ่มทำงานใหม่ในทันทีหรือไม่
ส่วนเรื่องการอพยพครั้งที่ 1 จำนวน 15 คน ยืนยันว่าจะเดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 12 ตุลาคม เวลา 10.35 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรอรับที่ท่าอากาศยาน ทันทีที่เดินทางมาถึงจะมีหลักปฏิบัติในการต้อนรับ จะมีการดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัย พาไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนทางกระทรวงแรงงานนั้น ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการเยียวยาตามระเบียบ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้ ประสานกับสถานทูต ถึงจำนวนคนเดินทางกลับเพื่อเตรียมเรื่องเงินเยียวยาไว้แล้ว
ขณะที่ในวันนี้ได้หารือกันเรื่องการเตรียมส่งเครื่องบินกองทัพอากาศ ลำแรก แอร์บัส 340 โดยกำหนดไว้ว่าจะเดินทางถึงกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในวันที่ 15 ตุลาคม นี้ สามารถรับคนได้จำนวน 140 คน และหลังจากนี้จะดำเนินการเรื่องการขออนุญาตบินเข้าน่านฟ้าประเทศต่างๆ เพื่อที่จะเดินทางไปยังกรุงเทลอาวีฟ และพร้อมที่จะส่งเครื่องบินไปเพิ่มเติม แต่ยังมีข้อจำกัดคือจะต้องมีการรวบรวมคนให้มาสู่พื้นที่ที่ปลอดภัย และประสานสถานทูตเพื่อให้แน่ใจว่าในแต่ละช่วงจะมีผู้ที่พร้อมเดินทางมาที่กรุงเทลอาวีฟมากน้อยเพียงใด
โดยเที่ยวบินของกอบทัพอากาศที่จะถึงออสราเอล 15 ตุลาคมนี้นั้น จะยังไม่มีการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมา เพราะยังคงต้องรอทางการอิสราเอลพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตก่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องเจรจาเรื่องการเยียวยาให้กับญาติของผู้เสียชีวิตด้วย ซึ่งกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์จะต้องใช้เวลานานในการดำเนินการ
ส่วนเรื่องการขออนุญาตบินเข้า และบินผ่านน่านฟ้าอิสราเอลนั้น สถานทูตได้ติดต่อไปกับทางการอิสราเอลเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เป็นประเทศที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับสถานทูตอิสราเอล ไม่สามารถขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าได้ ก็อาจจะต้องใช้เส้นทางบินอื่น ซึ่งจะใช้เวลาในการบินอยู่ประมาณ 8 ถึง 12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องบินเส้นทางไหน โดยทางกองทัพอากาศจะส่งตารางเวลาการบินมาที่กระทรวงการต่างประเทศในวันพรุ่งนี้
นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินที่ได้ประสานเอาไว้ในวันที่ 18 ตุลาคม อีกจำนวน 80 คน ซึ่งในเรื่องการดำเนินการให้คนไทยมาขึ้นเครื่องบินนั้น จะเน้นไปที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะเป็นกลุ่มที่ได้เดินทางก่อน โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย และความจำเป็นก่อน
ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือในจังหวัดต่างๆ โดยมีหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนของกระทรวงแรงงาน 1694 เพื่อให้ญาติได้ประสานติดตาม เบื้องต้นมีญาติของแรงงานชาวไทยติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว
ทั้งนี้ได้มีการประสานงานกับมิตรประเทศต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน มีการเชิญทูตประเทศต่างๆ หารือ เพื่อประสานงานระหว่างประเทศ เช่น หน่วยงานของสหประชาชาติ โดยจะพยายามในทุกๆ ด้านเพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยในพื้นที่
ส่วนกรณีที่เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา มีแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงปลอดภัย เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเองแล้วนั้น โฆษก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ท่าอากาศยานยังคงเปิดให้บริการอยู่ และสายการบินพาณิชย์ก็ยังทำการบินอยู่ แต่จะมีบางส่วนที่ยกเลิกเที่ยวบินไปบ้าง ซึ่งสำหรับใครที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และสามารถเดินทางกลับได้เอง โดยไม่อยากรอภาครัฐดำเนินการ ก็สามารถเดินทางกลับเองได้แต่ขอให้ไว้วางใจว่าทางภาครัฐพร้อมที่จะดูแลแรงงานที่อยู่ในอิสราเอลทุกคน ทั้งที่ไปโดยผิดกฎหมายและถูกกฎหมายทางสถานทูตพร้อมที่จะดูแล
ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าคนไทยเสียชีวิตมากกว่า 100 คนนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์ยังคงมีความผกผันอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในภาวะสงคราม ดังนั้นในเรื่องของจำนวนต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบอย่างชัดเจน ขอความกรุณาว่าอย่าสร้างความตระหนักตกใจจนเกินเหตุ และขอความกรุณาว่าอย่าเผยแพร่ไปให้เกิดความตระหนกตกใจ เพราะเชื่อว่าพี่น้องชาวไทยทุกคนยังคงอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่
ส่วนที่มีรายงานว่าคนที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันรวมทุกชาติประมาณ 100 กว่าคน ส่วนตัวเลขที่เป็นคนไทยที่ได้รับรายงานมาจากนายจ้างคือจำนวน 11 คน ข้อมูลที่ได้รับมาขณะนี้เป็นข้อมูลในสภาวะสงคราม เป็นข้อมูลที่ยืนยันยาก ซึ่งอาจจะมีเพิ่มได้ และไม่สามารถยืนยันได้ว่าถูกจับไปอยู่พื้นที่ไหนบ้าง เพราะยังคงกระจัดกระจาย และทางการอิสราเอลก็ยังไม่ทราบอย่างชัดเจน
ขณะที่คนไทยที่อยู่นอกพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อยู่ในประเทศอิสราเอล ก็สามารถแสดงความจำนงกลับประเทศไทยได้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้เป็นกรณีพิเศษ
ส่วนประเด็นที่มีกระแสว่าทางฮามาสข่มขู่ว่าจะมีการสังหารตัวประกันทีละคน หากทางอิสราเอลโจมตีในพื้นที่นั้น จากการประสานหลายฝ่าย คาดว่าเป้าหมายของกลุ่มฮามาสไม่น่าใช่คนต่างชาติ เพราะกลุ่มฮามาสเองก็ไม่ได้ต้องการเปิดหน้าความขัดแย้งกับนานาประเทศ
สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า ภาครัฐจะเป็นคนรับผิดชอบให้ทั้งหมด อย่างเช่นผู้ที่จะเดินทางมาถึงในวันที่ 12 ตุลาคมนี้รัฐบาลเป็นผู้จองตั๋วเครื่องบินให้ดำเนินการให้ส่วนที่เป็นเครื่องพาณิชย์ ส่วนในวันที่ 18 ตุลาคมนี้จำนวน 80 ที่นั่งนั้นทางสถานทูตจะเป็นผู้ดำเนินการให้เช่นกัน ส่วนเครื่องบินของกองทัพอากาศ ทางกองทัพอากาศจะเป็นผู้ประเมินค่าใช้จ่ายมาให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงฯ จะทำการของบกลางให้ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติภารกิจตามปกติเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว ส่วนคนที่เดินทางกลับมาเองนั้น รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายให้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนที่ต้องอพยพ