จากกรณีปฏิบัติการบุกค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รอง ผบ.ตร. หลังทางตำรวจมีข้อมูลพบความเชื่อมโยงกับกลุ่มพนันออนไลน์ โดยพบว่ามีกลุ่มตำรวจ 8 นาย ที่ถูกออกหมายจับเมื่อความเชื่อมโยงในคดีดังกล่าว ซึ่งมีตำรวจบางนายเป็นลูกน้องของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ จึงนำไปสู่การตรวจค้นดังกล่าว
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพวกเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ มักจะใช้ ‘บัญชีม้า’ ในการทำธุรกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อของนายทุน เพื่อหลีกเลี่ยงก็สาวมาถึงตัวการใหญ่ได้ จึงยากต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการลอบลักเปิดบัญชีม้านั้น จึงเป็นหนึ่งในต้นตอที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ มากมาย
เราได้ยินชื่อ ‘บัญชีม้า’ ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการติดตามจับกุมโดยเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถกวาดล้างปัญหานี้ให้หมดสิ้นลงไปได้ เนื่องจากมีการทำขบวนการ สามารถซื้อขายก็ได้ง่ายดายในกลุ่มตลาดมืด หรือแม้แต่การประกาศขายผ่านทางออนไลน์แบบไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายก็มีอยู่ให้เห็น เรียกได้ว่าจับเท่าไรก็ยิ่งผุดขึ้นมาทดแทนกันเรื่อย ๆ
‘บัญชีม้า’ คืออะไร
บัญชีม้า คือ บัญชีเงินฝากธนาคารที่ใช้บุคคลมาเปิดบัญชีให้ แต่เจ้าของบัญชีไม่ได้ถือครอง หรือ นำไปใช้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง แต่เป็นการให้บุคคลที่ 2 นำไปใช้ ในการทำธุรกรรมทางธนาคารต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในทางที่ผิดเกือบทั้งสิ้น ทั้งการหลอกโอนเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ ยาเสพติด รวมไปถึงการฟอกเงินของเครือข่ายธุรกิจสีเทาต่าง ๆ
โดยบัญชีม้ามาจากการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้เปิดบัญชีในชื่อของคนนั้น ๆ หรือ จ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี หรือ รับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไปเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด ซึ่งพบได้อย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ที่มีการขายบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเปิดเผย ตั้งแต่ราคา 800 บาท จนถึง 20,000 บาท
ซึ่งบัญชีม้าเหล่านี้จะถูกรวบรวมเป็นแพ็กเกจพร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและซิมการ์ดโทรศัพท์ที่เจ้าของบัญชีเปิดใช้งานด้วย เพื่อให้คนร้ายที่ซื้อบัญชีม้าไปแล้วสามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีไปผูกกับ mobile banking เพื่อใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที
นำไปใช้ทำอะไรบ้าง
บัญชีม้าถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดต่างๆมากมาย ซึ่งจำแนกตามกลุ่มความผิด ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ฉ้อโกง ยาเสพติด และความผิดอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด กลุ่มวงการพนัน รวมทั้งกลุ่มนอมินีที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทนผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง
ซึ่งปัจจุบันพบว่า บัญชีม้าถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการหลอกลวงฉ้อโกง อาทิ การหลอกซื้อขายผ่านทางออนไลน์ หลอกโอนเงิน รวมถึงการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์
โดยกลุ่มคนที่ใช้บัญชีม้าส่วนใหญ่จะมีบัญชีม้าถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก หลายบัญชี เพื่อใช้โอนส่งเงินต่อกันไปเป็นทอด ๆ เพื่อป้องกันการถูกตำรวจตรวจสอบหรืออายัดเงินในบัญชีม้า
ซื้อ-ขาย บัญชีม้า มีโทษหนัก
โดยเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้ 17 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป
เป็นที่ทราบกันดีว่าบัญชีม้านั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และมักถูกนำไปใช้ทำความผิดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งก็มีบทลงโทษเกี่ยวกับบัญชีม้าเช่นกัน ดังนี้
เปิด/ขาย/ให้เช่า/ให้ยืม (บัญชีม้า)
- จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 300,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
เป็นธุระจัดหา/โฆษณา เพื่อให้มีการซื้อ/ขาย/ให้เช่า/ให้ยืม (บัญชีม้า)
- จำคุก 2-5 ปี หรือ ปรับ 200,000-500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
การกวาดล้าง ‘บัญชีม้า’
ข้อมูลจาก บช.สอท. เผยว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเรื่องซิมผีบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน หลังจากพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีบทลงโทษผู้ซื้อขายซิมผีบัญชีม้าต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปี
ทำให้สามารถกวาดล้างจับกุมกระบวนการเหล่านี้ได้มากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มคนร้ายที่ใช้สารพัดเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่าซิมบ็อกซ์ คืออุปกรณ์ที่สามารถนำซิมโทรศัพท์จำนวนมากมาใส่รวมกันเพื่อให้โทรหรือส่งข้อความไปหลอกลวงประชาชนได้ทีละมาก ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมคนร้ายที่ใช้สัญญาณเสาโทรศัพท์ปลอมในการส่ง SMS ที่ใช้ชื่อเดียวกับธนาคารไปหาผู้เสียหาย ทำให้ประชาชนหลงเชื่อจนเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก
สถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์
สำหรับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในประเทศไทย ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2566 จำนวนคดีที่มีผู้เสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เข้าแจ้งความ 287,122 เรื่อง มาจาก 14 ประเภทคดี มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 39,847,206,321 ล้านบาท
โดยก่อนที่จะมี พรก.มาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฉบับนี้ออกมาพบว่ามีความเสียหายทางการเงินอยู่ที่ 31,959 ล้านบาทเศษ คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 84 ล้านบาทต่อวัน สามารถอายัดเงินในบัญชีได้ประมาณ 449 ล้านบาท คิดเป็นแค่ 1.4% เท่านั้น
แต่หลังจาก พรก.ฯ มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายในช่วง 3 เดือนนี้ลดลงอยู่ที่ประมาณ 6,585 ล้านบาทเศษ คิดเป็นประมาณ 58 ล้านบาทต่อวัน ถือว่าจำนวนคดีที่เป็นความเสียหายต่อวันลดลง จำนวนเงินที่สามารถอายัดได้ทันอยู่ที่ 229 ล้านบาท คิดเป็น 3.5%
ข้อมูล – ธนาคารแห่งประเทศไทย