เรียกได้ว่าปัญหาถาโถมโหมกระหน่ำเข้าใส่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ ‘บิ๊กโจ๊ก’ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็น 1 ในแคนดิเดต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต่อจาก พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้อย่างมาก
ที่ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (25 ก.ย.66) กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และชุดปฏิบัติการพิเศษ (ตำรวจไซเบอร์) เปิดปฏิบัติการเข้าค้นบ้านพักจำนวนห้าหลัง
ซึ่งปรากฏข้อมูลว่าเป็นบ้านพักของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ หลังมีการสืบสวนขยายผลจนพบข้อมูลว่าบ้านพักหลังดังกล่าวปรากฏข้อมูลว่ามีบุคคลใกล้ชิดกับ ‘บิ๊กโจ๊ก’ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายพนันออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน(ประเทศลาว) และเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์
ซึ่งก่อนหน้านี้หากจำกันได้ในคดีกำนันนก ‘บิ๊กโจ๊ก’ ถือได้ว่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการสางคดี แต่สุดท้ายมีคำสั่งจาก ผบ.ตร. ให้โอนย้ายคดีนี้ไปให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
ประวัติการรับราชการ
เริ่มต้นรับราชการตำรวจ
- พ.ศ. 2537 : เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร
- พ.ศ. 2543 : เลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2545 : สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี
- พ.ศ. 2546 : ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ
- พ.ศ. 2547 : เป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี
ระดับผู้กำกับการ
หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพันตำรวจเอก พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้น ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- พ.ศ. 2552 : ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
- พ.ศ. 2554 : ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
- พ.ศ. 2555 : ถูกส่งไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่เป็น ‘พื้นที่สีแดง’ เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้
ระดับผู้บังคับการและผู้บัญชาการ
- พ.ศ. 2558 : ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจตรี ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น หลังจากนั้นทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557
- พ.ศ. 2558 : ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว
- พ.ศ. 2559 : ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ
- พ.ศ. 2560 : รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560
- พ.ศ. 2561 : พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจโท และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
มีคำสั่งย้าย
ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย
จนวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
และให้ถูกเพิ่มรายชื่อในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 เพื่อได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องด้วยมีมูลกรณี เมื่อถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าคำสั่งนี้ออกมาเนื่องจากมีการร้องเรียน จึงต้องเตือนไว้ก่อน
ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยื่นหนังสือลากิจเพื่อขอบวชที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 9 วัน และกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2563
ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องคำสั่งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม กรณีถูกย้ายจาก ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีออก
เนื่องจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ขอให้พิจารณามีคำสั่งกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการดังเดิม แต่ยังไม่พ้นกำหนด 90 วันนับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือ จึงถือว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยังไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนตามที่ได้ยื่นฟ้องศาลไว้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี
‘แมวเก้าชีวิต’ กลับสู่วงการกากีอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติเห็นชอบให้รับโอนมาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ พ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา (สบ.9) เทียบเท่าผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564[
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.พ.ศ. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จำนวน 273 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นลำดับที่ 169 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป โดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล เลื่อนจาก ที่ปรึกษา (สบ 9) สตช. ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กระทั่งในปี 2565 ขยับขึ้นมาเป็น รอง ผบ.ตร.
จากคำสั่งดังกล่าวที่ถูกย้ายให้ไปเป็นข้าราชการพลเรือนกว่า 2 ปี ก่อนจะมีคำสั่งให้ย้ายกลับมาสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก ครั้ง ทำให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ได้รับฉายา ‘แมวเก้าชีวิต’
‘บิ๊กโจ๊ก’ กับชื่อติดโผแคนดิเดต ผบ.ตร.
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ช่วงบ่ายของวันที่ 27 กันยายนนี้ วาระเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14 แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งจะพิจารณาและเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมต่อที่ประชุม ก.ตร. จากรายชื่อ รอง ผบ.ตร. 4 นาย ซึ่งหากเรียงลำดับอาวุโส ประกอบด้วย
- 1.พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2567
- 2.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2574
- 3.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2569
- 4.พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2567