วันนี้ (14 ก.ย.66) ที่ กระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานการประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” กล่าวในที่ประชุมว่า ตนมีนโยบายลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง โดยให้เด็กเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)
โดยนโยบายอุปกรณ์การเรียน ต้องยอมรับว่าผู้มีโอกาสก็จะมีสื่อการเรียนการสอน แต่ผู้ด้อยโอกาส อาจจะไม่มี ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียมเสมอภาคทางการศึกษาเราต้องจัดการแท็บเล็ต ส่วนการดำเนินการ ต้องมาศึกษาและดูงบประมาณในการดำเนินการ โดยดูว่าสามารถชื้อได้หรือไม่ ถ้าซื้อไม่ได้อาจจะเช่า หรือ ยืม
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวในรัฐบาลเศรษฐา ถูกพูดถึงอย่างมากเนื่องจากเมื่อครั้งในอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยมีการนำร่องโครงการในลักษณะคล้ายกันนี้ คือ โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย “One Tablet per Child : OTPC”
โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย [รัฐบาลยิ่งลักษณ์]
ที่มาของโครงการนี้เป็น 1 ในนโยบายหาเสียงด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทย ในการสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2554 กระทั่งพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 24 สิงหาคม 2554
โดยมีการกล่าวถึงนโยบายที่จะสร้างพื้นฐานในการเรียนออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน และการจัดทําระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กําหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet PC per Child)”
ต่อมา ในปี 2555 นโยบาย OTPC ถูกผลักดันสำเร็จ โดยมีการจัดสรรคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโครงการนำร่อง และในวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ในวันพิธีเปิดงานโครงการ “One Tablet PC Per Child”
งบประมาณที่ใช้กับโครงการฯ
ในปีงบประมาณ 2555 นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้จัดซื้อแท็บเล็ตจาก บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก เดเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในราคาเครื่องละ 2,674 บาท รวมค่าขนส่ง แจกให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนทุกสังกัดจำนวน 856,886 เครื่อง วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท
และในปีงบประมาณ 2556 จัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ตวงเงินจำนวนกว่า 4 พันล้านบาท รวมกับงบประมาณปีแรกเท่ากับใช้งบประมาณไปมากกว่า 6 พันล้านบาท โดยแจกเป็นโซน คือ
- โซนที่ 1 : นักเรียนชั้น ป.1 (ภาคกลางและภาคใต้)
- โซนที่ 2 นักเรียนชั้น ป.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
- โซนที่ 3 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคกลางและภาคใต้)
- โซนที่ 4 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
กระทั่งในปี 2557 โครงการดังกล่าวถูกยกเลิกโดย คสช. เนื่องจากเกิดปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งเรื่องการประมูล และตัวบริษัทที่ชนะการประมูลแต่ไม่สามารถจัดส่งอุปกรณ์ได้ตามกำหนด
ปัญหาที่พบ
อย่างไรก็ตามหลังมีการดำเนินการผลักดันนโยบายดังกล่าว มีหลายหน่วยงานได้สำรวจติดตามผลของการใช้แท็บเล็ตของนักเรียน พบว่า การใช้แท็บเล็ตของนักเรียนนั้นไม่คุ้มค่า เนื่องจากใน 1 วันการเรียนการสอน นักเรียนจะใช้แท็บเล้ตเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนี้ในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งเครื่องที่นำเข้ามานั้นเป็นเครื่องที่มีราคาถูก ทำให้ได้คุณภาพที่ต่ำมีอายุการใช้งานที่สั้นเพียง 3 ปีเท่านั้น ประกอบกับหากเกิดกรณีที่ต้องถูกก็ยิ่งไม่คุ้มเข้าไปอีก รวมไปถึงอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่เมื่อใช้งานไปได้ไม่กี่ปีก็เสื่อมคุณภาพลง อีกทั้งปัญหาเรื่องของบุคลากรครูที่ต้องเข้ามาดูแล และมีความรู้ในอุปกรณ์ก็มีไม่เพียงพอ ทำให้เสียงส่วนใหญ่มองว่านโยบายดังกล่าวไม่คุ้มค่า