คณะนักวิจัยจากสถาบันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (UniSA) เปิดเผยการออกแบบฟาร์มทะเลแบบลอยน้ำ ซึ่งสามารถผลิตน้ำจืดสำหรับดื่มและการเกษตร โดยฟาร์มทะเลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นี้อาจช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำจืดที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยที่เผยแพร่วันจันทร์ (11 ก.ย.) ระบุว่าฟาร์มทะเลนี้จะทำให้น้ำทะเลระเหยกลายเป็นไอและรีไซเคิลเป็นน้ำจืดโดยใช้ห้อง 2 ห้อง ได้แก่ ห้องด้านบนที่คล้ายกับเรือนกระจก และห้องด้านล่างที่จะเก็บน้ำ ซึ่งจะถูกควบแน่นและลำเลียงไปยังห้องเพาะปลูกพืช
รายงานระบุว่าสวี่ฮ่าวหลาน และแกรี โอเวน คณะนักวิจัย ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ฟาร์มทะเลนี้เพาะปลูกบรอกโคลี ผักกาดหอม และกวางตุ้ง บนพื้นผิวน้ำทะเลโดยไม่ต้องดูแลหรือทดน้ำเพิ่มเติม
สวี่ ซึ่งเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานจิง และสถาบันเซรามิกแห่งเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ก่อนร่วมงานกับมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียในปี 2011 กล่าวว่าฟาร์มทะเลนี้มีข้อได้เปรียบมากกว่าการออกแบบฟาร์มทะเลพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ หลายประการ
สวี่ชี้ว่าการออกแบบฟาร์มทะเลพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ ติดตั้งเครื่องระเหยน้ำทะเลไว้ในห้องเพาะปลูก ซึ่งแย่งพื้นที่อันมีค่าที่อาจนำไปใช้เพาะปลูกพืชพันธุ์ ทั้งยังมีแนวโน้มทำให้เกิดความร้อนสูงเกินไปและพืชผลล้มตาย
สวี่อธิบายว่าการออกแบบฟาร์มทะเลแบบใหม่ของพวกเขา ซึ่งกระจายตำแหน่งเครื่องระเหยและห้องเพาะปลูกในแนวตั้งช่วยลดการปล่อยความร้อนโดยรวมของอุปกรณ์และเพิ่มพื้นที่สำหรับผลิตอาหาร รวมถึงทำงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ต้นทุนต่ำ และใช้งานง่ายมาก ใช้เพียงพลังงานแสงอาทิตย์และน้ำทะเลมาผลิตน้ำสะอาดและเพาะปลูกพืชผล
ด้านโอเวนกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปคือการขยายขนาดของการออกแบบใหม่นี้ เพื่อมุ่งสู่การสร้างฟาร์มทะเลชีวนิเวศ (biodome) แบบลอยน้ำขนาดใหญ่มหึมาบนมหาสมุทร หรือการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กมากมายบนน่านน้ำทะเลขนาดใหญ่
ที่มา – ซินหัว