ผลกระทบจากเอลนีโญที่กำลังทำให้เกิดฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือในบางประเทศก็ต้องน้ำท่วมหนัก กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามมากขึ้นและกำลังจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงมากยิ่งขึ้น จากผลผลิตที่มีแนวโน้มขาดแคลนทั่วโลก และลุกลามใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ
อินเดียงดส่งออกข้าวขาว
ตามรายงานในหลายประเทศพบว่า ผลผลิตข้าวในแต่ละประเทศมีแนวโน้มที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกมีน้อยลง ซึ่งฟิตช์ โซลูชั่นส์ ได้ประเมินว่า ในขณะนี้ ทั่วโลกมีปริมาณข้าวที่หายไปในช่วงปี 2565 – 2566 เกือบ 9 ล้านตัน
สำหรับประเทศอินเดีย หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีปริมาณผลผลิตข้าวลดลงถึง 31% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นปัญหามาจากภัยแล้ง และน้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ซึ่งประเทศอินเดียนั้น กินส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวมากกว่า 40% ของตลาดโลก โดยในปีที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าวมากกว่า 22 ล้านตันไปยัง 140 ประเทศทั่วโลก
ดังนั้น เมื่ออินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าวขาว ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศเนปาลขยับพุ่งสูงขึ้นทันที ในขณะที่ประเทศที่ซื้อข้าวจากอินเดีย เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ต้องเปิดการเจรจากับอินเดีย เพื่อขอให้ส่งออกข้าวขาวบางส่วนให้กับประเทศของตน
ส่วนสาเหตุที่อินเดียระงับการส่งออกนั้น เป็นผลมาจากผลผลิตที่ลดลงจากการเกิดภัยแล้ง และน้ำท่วม อันเป็นผลพวงจากการเกิด “เอลนิโญ” ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวในอินเดีย ขยับเพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลอินเดีย จำเป็นต้องควบคุมการส่งออก เพื่อรักษาระดับของปริมาณข้าวในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่านี้
…
ตลาดข้าวอาเซียนราคาพุ่ง
การระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย ยังส่งผลให้ตลาดข้าวในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และเมียนมา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ต่อจากอินเดีย ได้รับผลกระทบตามกันมา
และเมื่อไม่นานมานี้ เมียนมาร์ ผู้ส่งออกข้างอันดับที่ 5 ของโลก ประกาศระงับการส่งออกข้าวเป็นเวลา 45 วัน ตั้งแต่ 1 กันยายนนี้ เป็นต้นไป เนื่องจากราคาข้าวในประเทศมีราคาสูงขึ้น ผลผลิตลดลง จากผลกระทบทางด้านของสภาพอากาศฝนตกไม่สม่ำเสมอ อากาศร้อนจัด รวมถึงปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ตลาดข้าวในประเทศเมียนมาร์อยู่ในภาวะตึงตัว
ซึ่งการระงับการส่งออกข้าวของทั้งอินเดีย และเมียนมาร์ ส่งผลให้ราคาข้าวของไทย และเวียดนาม ขยับสูงขึ้น มีความผันผวนมากยิ่งขึ้น
…
ตลาดข้าวไทยตึงตัวครั้งแรกในรอบหลายปี
ราคาข้าวของไทย และเวียดนาม มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 11 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยจะผลิตข้าวได้ราว 20 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งจะเป็นการบริโภคภายในประเทศ และอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีข้าวมากพอที่จะส่งออกได้ โดยไม่น่ากังวลต่ออัตราการบริโภคภายในประเทศ แต่ในปีนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญผลกระทบจากเอลนิโญไม่ต่างจาก อินเดีย เมียนมาร์ ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีลดลง และอาจจะต่อเนื่องไปถึงปี 2567 ด้วยหากภาวะเอลนิโญยังคงก่อให้เกิดภัยแล้งต่อเนื่อง
นั่นทำให้ตลาดข้าวของไทย เผชิญสภาวะตึงตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายที่ เนื่องจากปริมาณความต้องการซื้อข้าวพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตส่อแววจะลดต่ำลง ทำให้ตลาดมีความผันผวนรุนแรงมากขึ้น
ปัญหานี้ ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้น เวียดนามก็กำลังเผชิญสภาวะที่ไม่ต่างกันนั้น จากความต้องการของตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น แต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ค้าข้าวของเวียดนามลังเลที่จะเซ็นต์สัญญาซื้อข้าวฉบับใหม่ ๆ เนื่องจากไม่มั่นใจว่า จะสามารถจัดหาข้าวขายได้เพียงพอหรือไม่
…
FAO ประเมินพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ในภาวะเสี่ยง
ทางด้านขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะขยับขึ้นไปแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่อินเดีย ระงับการส่งออกข้าว ตามด้วยเมียนมาร์ ในขณะที่ประเทศไทย เวียดนาม กำลังเผชิญปัญหาผลผลิตที่อาจจะลดต่ำลง จากการเกิดภาวะเอลนีโญ
ซึ่งผลผลิตข้าวขาวราว 90% มาจากประเทศในทวีปเอเซีย ดังนั้น ภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อปริมาณของข้าวในตลาดโลกอย่างแน่นอน อีกทั้ง สภาวะเอลนีโญในปีนี้ จะกินเวลายาวนาน และรุนแรง ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในอย่างแน่นอน