วันที่ 16 สิงหาคม 2566 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) นำโดยนาย สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสสรท. ได้ยื่นหนังสือถึงรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ขอคัดค้านการหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่และขอให้ทบทวนยกเลิก
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ได้แถลงว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย ได้ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่โดยกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ สาระสำคัญคือ
- มีสัญชาติไทย
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนดผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญที่ระบุในบทเฉพาะกาลของระเบียบฯ ใหม่นี้ คือ
ข้อ 17 บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้บังคับใช้ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุยังมิได้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน
เท่ากับว่าจากนี้ไปผู้สูงอายุที่จะได้รับก็ต้องแสดงตนพิสูจน์สิทธิว่า “จนจริง” ถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหากปรากฏว่ามีรายได้ก็จะไม่ได้รับ ซึ่งการเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา กฎระเบียบดังกล่าวเป็นการทำให้สวัสดิการผู้สูงอายุในไทย “ถอยหลัง” ไปจากปี 2552 ซึ่งขณะนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการผู้สูงอายุ จากเดิมใช้ระบบ “พิสูจน์ความจน” มาใช้ระบบ “ถ้วนหน้า” ซึ่งเป็นการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ หลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และแน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหาตามมาอีกมากมายในอนาคต แต่หากหลักเกณฑ์เดิมแบบถ้วนหน้าก็จะง่ายไม่สลับซับซ้อนเพราะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลอยู่แล้ว
นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ยึดมั่นในแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดังนั้นการดูแลคนทุกคนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิตถือเป็นภารกิจแห่งรัฐที่จะต้องมีหน้าที่ดูแล เยียวยาโดยเฉพาะการดูแลเด็ก และผู้สูงอายุ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศปัจจุบันประมาณ 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5,622,074 คน และหญิง 7,076,288 คน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งคือกลุ่มอายุ 60-69 ปี หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุในอัตราเฉลี่ย อยู่ที่คนละ 800 บาทต่อเดือน จะใช้งบประมาณ 9,600 ล้านบาท ทั้งปี จะใช้งบประมาณ 115,200 ล้านบาท หากคิดเป็นสัดส่วนจากงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 3,200,000 ล้านบาท สัดส่วนประมาณร้อยละ 3.6 ซึ่งไม่มากเลย และที่สำคัญเมื่อเงินจ่ายออกไปแล้วเงินก็จะหมุนกลับมาในรูปแบบของการจับจ่ายสินค้า เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการผลิต เกิดการจ้างงาน และรัฐก็สามารถลดภาษีทั้งทางตรง และทางอ้อมได้เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ยิ่งไปกว่านั้นถ้ารัฐบาลกล้าพอที่จะเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้า ทั้งภาษีที่ดิน-ทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (ในแต่ละปีซื้อขายกันกว่า 20,000,000 ล้านบาท แต่ไม่เก็บภาษีกันเลยนับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา) รวมทั้งลดการอุดหนุนกลุ่มทุนภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนปีหนึ่งกว่า 300,000 ล้านบาท หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้มีการทุจริต รั่วไหลก็สามารถนำงบประมาณไปจัดรัฐสวัสดิการได้อย่างดีและเพียงพอ
จึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการไปสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่และไปทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่รัฐบาลควรสร้างมาตรการการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า บริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตให้หมดไป สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของ เด็ก ผู้สูงอายุ จัดการเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จัดการระบบ พลังงาน น้ำประปา ไฟฟ้า การขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคม การบริการสาธารณะที่ดีมีประสิทธิภาพที่ดำเนินการโดยรัฐเองไม่ถ่ายโอนภารกิจให้เอกชนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตเพื่อลดรายจ่ายประชาชนลง เมื่อประชาชนอยู่ดีมีสุข ประเทศชาติก็สงบสุข และขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน ยกเลิก หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่แล้วกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิมแบบถ้วนหน้าและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และ ประชาชนมากว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับการพิจารณา
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน