กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องจับตามอง สำหรับกรณีคดีหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าว ที่ล่าสุดศาลรัฐธรรมมีมติรับคำร้องของ กกต. พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
นักวิเคราะห์การเมืองหลาย ๆ คน มองว่า นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่เสี่ยงโดนยุบพรรคซ้ำรอยอดีตการยุบ ‘พรรคอนาคตใหม่’ เมื่อปี 2563
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการก่อกำเกิดของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่พรรคก้าวไกล สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองนำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีบทบาทเปลี่ยนการเมืองแบบเดิม ๆ สู่การเมืองสมัยใหม่
…
ที่มาของ ‘พรรคอนาคตใหม่’
พรรคอนาคตใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองประธานบริหารบริษัทไทยซัมมิท และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งผู้ร่วมจดจัดตั้งอีก 24 คน
โดยในการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 นายธนาธร ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และนายปิยบุตร ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคนแรก พรรคอนาคตใหม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีสถานะเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561
พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 เป็นอันดับสามรองจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนนเสียง 6,330,617 เสียง ได้ ส.ส.เขต 31 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 ที่นั่ง
ซึ่งฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่จะเป็นกลุ่มที่อยู่นอกเหนือความขัดแย้งทางการเมือง เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อาศัยอยู่ในเมือง นักศึกษา ผู้เบื่อหน่ายต่อความขัดแย้ง
ไทม์ไลน์เหตุการณ์สู่การยุบ ‘พรรคอนาคตใหม่’
คดีที่นำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่นั้น เริ่มมาจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. เมื่อวันที่ 21 พ.ค.62 เพื่อสวนสอบสวนวินิจฉัยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ใช้เงินส่วนตัวให้พรรคอนาคตใหม่ยืมในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง จำนวน 110 ล้านบาท เข้าข่ายกระทำการขัดต่อ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 หรือไม่
กระทั่ง วันที่ 11 ธ.ค.62 กกต.ได้มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีคำร้องเงินกู้ 191.2 ล้านบาทว่า เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
ต่อมาวันที่ 21 ก.พ. 63 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และห้ามจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง โดยรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีดังนี้
- 1.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 2.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 3.ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 4.พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ลาออก)
- 5.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 6.ไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 7.นิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 8.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 9.สุรชัย ศรีสารคาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 10.เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 11.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- 12.นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค
- 13 ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค
- 14.สุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรค
- 15.รณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค
- 16.ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.
ก่อนที่นายธนาธร จะส่งไม้ต่อให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นผู้นำพรรคใหม่ ในชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมนำ ส.ส. อีก 54 คน เข้าสู่พรรค เดินหน้าทางการเมืองต่อไป
…
โดยหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และน.ส.พรรณิการ์ วานิช ได้ร่วมก่อตั้ง ‘คณะก้าวหน้า’ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.63 โดยมีภารกิจหลัก 3 ประการ
- การสร้างเครือข่ายทั่วประเทศไทย
- รณรงค์ทางความคิดทั่วประเทศไทย
- รณรงค์หาเสียงให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับทั่วประเทศไทย
โดยคณะก้าวหน้า มีคณะกรรมการบริหาร 12 คน จาก 16 ของอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เดิม ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
คณะก้าวหน้ายังรณรงค์อีก 12 ประการได้แก่ ปฏิรูปการศึกษา รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปที่ดิน ทลายทุนผูกขาด สิ่งแวดล้อม เกษตรก้าวหน้า ปฏิรูปกองทัพ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจก้าวหน้าและเป็นธรรม และที่สำคัญที่สุดคือการรณรงค์ให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ในฐานะที่เป็นฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน