คัดลอก URL แล้ว
จับตาโหวตนายกฯ รอบ 2 ปมข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 เสนอญัตติซ้ำ คืออะไร?

จับตาโหวตนายกฯ รอบ 2 ปมข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 เสนอญัตติซ้ำ คืออะไร?

ในการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ โดยจะมีการเสนอโหวตนายกฯ เป็นครั้งที่ 2 และทางด้านของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเดินหน้าเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกฯ อีกครั้งเป็นครั้งที่ 2

ซึ่งในประเด็นนี้ ก็มีบรรดาของส.ว. และส.ส. ฝ่ายค้านในขณะนี้ได้ท้วงในประเด็นของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่กำหนดห้ามไม่ให้เสนอญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน

ข้อบังคับฯ ที่ 41 คืออะไร?

สำหรับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ถูกกล่าวถึงนี้ เป็นข้อบังคับฯ ที่มีการประกาศใช้ในปี 2563 เป็นฉบับล่าสุด ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้และแก้ไขกันมาเป็นระยะ ๆ โดยข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 ได้กำหนดไว้ว่า

ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”

เหตุใดจึงมองว่า เป็นญัตติซ้ำ

โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 นี้ขึ้นมา ว่า ในการประชุมสภาที่เกิดขึ้นเพื่อโหวตนายกฯ ในครั้งแรกนั้น มีการเสนอญัตติเกี่ยวกับการโหวตนายกฯ ไปแล้ว และมีผลโหวตออกมาแล้ว ว่า รัฐสภาไม่เห็นชอบกับแต่งตั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ

ดังนั้น การเสนอญัตติในการโหวตนายกฯ และมีการเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำอีกครั้งนั้น ถือเป็นการยื่นญัตติซ้ำ และญัตตินี้ ถือว่า เป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอเข้ามาซ้ำได้แล้ว หากจะเสนอซ้ำ ก็จะต้องรอในประชุมสมัยหน้า

ญัตติซ้ำหรือไม่ซ้ำกันแน่

ในวันนี้ ( 18 ก.ค. ) ผลการประชุมร่วมทั้งวิปฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ก็ยังคงไม่ชัดเจนว่า สรุปแล้ว การเสนอญัตติโหวตนายกฯ โดยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นครั้งที่สองนั้น ผิดตามข้อบังคับข้อที่ 41 หรือไม่?

ในขณะเดียวกันได้มีการกล่าวถึงข้อบังคับรัฐสภาในหมวดที่ 9 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้สภาได้เสนอชื่อนายกฯ โดยกำหนดให้ต้องไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ และมี ส.ส.รับร้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 รวมถึงขั้นตอนการโหวต

แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงจำนวนครั้ง หรือข้อกำหนดที่ห้ามเสนอซื้อซ้ำแต่อย่างใด

มีเพียงข้อกำหนดที่ระบุไว้ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคที่หนึ่ง ก็สามารถเข้าลงมติเพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นบุคคลนอก โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้

8 พรรคร่วมฯ มองประเด็นข้อบังคับข้อ 41 นี้อย่างไร?

สำหรับในประเด็นนี้ แม้จะยังไม่มีข้อสรุป แต่มีส.ส. จาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล มองว่า การเสนอชื่อนายกฯ นั้น ไม่สามารถใช้ข้อบังคับฯ ข้อ 41 นี้ได้ เนื่องจากกรณีของการโหวตเลือกนายกฯ นั้น มีกำหนดอยู่แล้วในข้อบังคับฯ หมวดที่ 9

ดังนั้น การเสนอชื่อและโหวตนายกฯ จึงต้องอ้างอิงกับหมวดที่ 9 แทน ที่มีการระบุไว้เฉพาะ และไม่ได้กำหนดจำนวนครั้งของการโหวตและเสนอชื่อแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก็ยังถูกระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อจะมีการบังคับใช้ ก็จะต้องไล่ลำดับข้อกฎหมายสูงสุดก่อนเสมอ

สำหรับการประชุม 8 พรรคร่วมเมื่อวานที่ผ่านมานั้น ข้อสรุปในที่ประชุมของทั้ง 8 พรรคมองว่า ไม่ควรตีความ ญัตติโหวตนายกฯ คือญัตติทั่วไปตามข้อบังคับข้อที่ 41 เพราะมีกระบวนการ หลักการ กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว

กระแสฝ่ายค้าน – ส.ว.

จากในประเด็นข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 นี้ถูกเสนอโดยทางด้านของ ส.ว. ดังนั้นกระแสของทางด้านส.ว. ยังคงมุ่งเป้าไปที่ประเด็นนี้ เพื่อจะจี้ในประเด็นข้อบังคับข้อที่ 41 และมีแนวโน้มที่จะเปิดประเด็น พร้อมทั้งลงมติว่า เป็นญัตติที่ตกไปแล้ว และไม่สามารถเสนอเข้าสู่สภาได้

ในขณะที่ทางด้านของกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน หลายพรรคยังคงสงวนท่าทีในประเด็นข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 นี้ อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวที่คาดว่า จะมีบางพรรคที่เห็นร่วมกับทาง ส.ว. คือ ญัตติตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้

ดังนั้นในประเด็นหลักจึงต้องดูว่า พรรคฝ่ายค้านทั้งหมดจะรวมกับ ส.ว. หรือไม่ เพราะเมื่อรวมเสียงฝ่ายค้านทั้งหมด และ ส.ว. รวมกัน จะมีมากกว่า คะแนนเสียงของ 8 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และนั่นจะส่งผลให้ญัตติเสนอชื่อนายกฯ จะต้องเลื่อนออกไป

ให้สภาตัดสินใจ?

ในประเด็นของการบังคับใช้ ข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 นี้ยังไม่ชัดเจน และคงต้องรอลุ้นว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ที่ประชุมรัฐสภาจะมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร โดยคาดว่า จะมีการเปิดอภิปรายกันในประเด็นของกฎข้อบังคับข้อที่ 41 นี้ เพื่อหาทางออกว่า จะดำเนินการอย่างไร เป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ ขัดต่อข้อบังคับ หรือข้อกฎหมายหรือไม่

โดยทางด้านของ ส.ว. จำนวนไม่น้อยส่งสัญญาณว่า ในกรณีที่นำเสนอญัตติโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ นั้นถือเป็น ญัตติที่ตกไปแล้ว ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุมสภาว่า จะมีมติอย่างไร

ในขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุถึงประเด็นนี้ว่า ความชัดเจนที่จะเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของสภาว่า จะใช้ข้อบังคับ ข้อที่ 41 หรือ ใช้ข้อบังคับหมวดที่ 9 ซึ่งได้มีการวางกรอบคร่าว ๆ ไว้ราว 2 ชั่วโมงในการอภิปราย

อย่างไรก็ตาม ในข้อบังคับฯ ให้โอกาสประธานสภาฯ มีอำนาจในการวินิจฉัยในประเด็นนี้ ว่า จะซ้ำหรือไม่ซ้ำ ดังนั้นจึงต้องจับตามและติดตามสถานการณ์การประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง