ภายหลังจากที่เมื่อวานที่ผ่านมา ผลการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ที่ได้มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งผลการลงมติก็เป็นไปตามความคาดหมายของหลาย ๆ ฝ่าย ที่มองว่า ในการลงมติจะไม่ได้รับความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
นำไปสู่แนวทางที่พรรคก้าวไกลเตรียมที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อ “ปิดสวิทช์ ส.ว.” ในการเลือกนายกฯ ซึ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ คณะก้าวหน้าโพสต์ ก็ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงไอเดียนี้ ในการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญมาตรา 272 นี้เช่นกัน
แนวทางนี้ ทำให้หลายคนสงสัยถึงความความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ กับในระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 10 เดือน ของ ส.ว. ชุดนี้
…
รธน. มาตรา 272 คืออะไร
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 272 นี้กล่าวถึงการได้มาของนายกรัฐมนตรี โดยในวรรคแรกได้บัญญัติไว้ว่า
ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา…
โดยสรุปคือ มาตรา 272 นี้คือ การกำหนดให้การเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 159 นั้น จะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกของทั้งสองสภา การยกเลิกมาตา 272 นี้ จึงเป็นการปิดไม่ให้ สว. ร่วมโหวตนายกฯ ด้วยนั่นเอง
โดยจะคงเหลือการลงมติตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 159 เท่านั้น โดยในวรรคท้ายของมาตรา 159 ระบุว่า
…มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
…
ม. 272 ยกเลิกยากไหม?
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 นั้น เป็นเรื่องที่มีขั้นตอนและกระบวนการทำได้ยากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ค่อนข้างมาก โดยในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นตอนที่ 1
ในขั้นตอนแรกจะต้องมีการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และเสนอต่อสภา โดยผู้ที่มีสิทธิเสนอนั้นประกอบไปด้วย
- คณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่า 100 คน
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา รวมกันไม่น้อยกว่า 150 คน
- ประชาชนจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ
ซึ่งกรอบการแก้ไข รธน. ม. 272 ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นก็จะสามารถผ่านขั้นตอนที่ 1 นี้ไปได้ไม่ยาก เนื่องจากคะแนนเสียงของพรรคมีจำนวนเพียงพอที่จะยื่นร่างแก้ไขฯ ต่อสภาได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นตอนที่ 2
ร่างแก้ไข รธน. นั้นจะถูกนำเสนอต่อสภา นำไปสู่การพิจารณาร่างแก้ไขดังกล่าว โดยจะต้องมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จากทั้งส.ส. และ ส.ว. จำนวน 3 วาระ คือ
- วาระแรก : ขั้นรับหลักการ
ซึ่งจะต้องมี ส.ส. และส.ว. รับรองร่วมกันมากกว่า 376 เสียง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องเป็น ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 84 เสียง
- วาระที่ 2 : ขั้นพิจารณา หรือตั้งคณะกรรมาธิการ
ในขั้นนี้ จะต้องมีการลงมติเห็นชอบมากกว่า 376 เสียง
- วาระที่ 3 : ขั้นลงมติเห็นชอบผ่านร่างแก้ไข รธน.
ในขั้นนี้ จะต้องมีการลงมติเห็นชอบมากกว่า 376 เสียง โดยที่จะต้องมีคะแนนเสียงของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านจำนวน 20% และมี ส.ว. เห็นชอบ อีก 1 ใน 3
จะเห็นว่า ในขั้นตอนที่ 2 นี้มีขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาต่าง ๆ ถึง 3 วาระ ซึ่งในแต่ละวาระนั้น มีข้อกำหนดที่สูง โดยเฉพาะวาระที่ 3 ที่จะต้องมี ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายค้านร่วมเห็นชอบด้วยตามจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งในทุกวาระ มีกำหนดไว้เหมือนกันคือ “มีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง” หรือ ตั้งแต่ 376 เสียงขึ้นไป
และนั้น ก็เป็นตัวเลขเดียวกับการลงมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกฯ
ซึ่งการลงมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกฯ นั้น หากเกิน 376 เสียง เพียงครั้งเดียว ในขณะที่การแก้ไข รธน. นั้นต้องเกินกึ่งหนึ่งถึง 3 วาระด้วยกัน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขั้นสุดท้าย
สำหรับในขั้นที่ 3 เกิดขึ้นภายหลังจากการผ่านกระบวนการของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ซึ่งจะต้องให้ “นายกรัฐมนตรี” นำขึ้นทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย และนำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ได้รับการแก้ไข
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ แก้ไขมาตรา 272 ควบคู่ไปกับการเสนอโหวตนายกฯ นั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” อย่างที่คิดไว้ โดยเฉพาะในวาระที่ 3 ของการลงมติเห็นชอบร่างฉบับรธน. ฉบับแก้ไบนั้น ที่ต้องใช้เสียงจากทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ร่วมลงมติด้วย
ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในกระบวนการทั้งหมด ที่หากพิจารณาดูแล้ว ก็จะใช้ระยะเวลาไม่น้อย กว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขฉบับนี้
และนี่ยังไม่นับที่มีการเปิดโอกาสให้ ส.ส. หรือ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภา ( ส.ส. 50 คน หรือ ส.ว. 25 คน หรือทั้งสองสภารวมกัน 75 คน) เสนอศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ รูปแบบของรัฐหรือไม่ หรือ ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ซึ่งกรอบเวลาให้ไว้ที่ 30 วัน แต่นั่นหากมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะส่งผลให้ “กรอบเวลา” การประกาศบังคับใช้ “ยืดออกไป” ไประยะหนึ่ง
โดยที่ผ่านมา มีการยื่นแก้ไขมาตรา 272 นี้แล้วจำนวน 6 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่ผ่านสภาทั้ง 6 ครั้ง แม้ในครั้งนี้จะดูว่ามีโอกาสมากกว่า เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีที่นั่งในสภามากเพียงพอที่จะเสนอร่างฯ ผ่านสภาได้ แต่เส้นทางในการพิจารณาจนกว่าจะออกประกาศบังคับใช้นั้น ไม่ง่าย
หลากหลายความเห็น “ปิดโหวตส.ว.” ก้าวไกล
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ ( 18 ก.ค. ) โดยระบุว่า ในขณะนี้ ยังไม่ได้มีการบรรจุระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ทางพรรคก้าวไกลได้เสนอความเห็นมาในการประชุมรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ค. นี้แต่อย่างใด ซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติที่เสนอมา และคาดว่า หากตรวจสอบเรียบร้อย ก็จะต้องอยู่ภายหลังจากวาระของการโหวตเลือกนายกฯ
ในขณะที่ทางฝั่งของเพื่อไทย มองว่า การยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นี้ เป็นเรื่องยากที่จะทำได้จริง เนื่องจากกระบวนการและขั้นตอนนั้น มีข้อกำหนดมากกว่า การโหวตนายกฯ เสียอีก โดยเฉพาะนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า ประเด็นนี้ ยากเสียกว่าการเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกเสียอีก