คัดลอก URL แล้ว

เปิดบทสัมภาษณ์ ‘วันนอร์’ หลังเพื่อไทย-ก้าวไกล เสนอชื่อนั่งประธานสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ผ่านรายการ ข่าวเช้า Good Morning Thailand ทางช่อง Mono29 โดยเปิดเผยหลัง “พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย” เสนอชื่อนั่งตำแหน่งประธานสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า เดิมนั้นไม่ได้มีข้อตกลงอะไร ซึ่งเดิมที 8 พรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากว่าทางพรรคก้าวไกลได้ 151 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง โดยในเรื่องเฉพาะตำแหน่งประธานสภา ให้ทั้ง 2 พรรคไปตกลงกันเอง

ซึ่งใช้เวลาในการตกลงนานพอสมควร กระทั่งเมื่อ 2 วันที่แล้ว ในการประชุมร่วมของทั้ง 8 พรรค ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ในที่ประชุมวันนั้นจึงมีการแสดงความเห็นว่าทั้ง 2 พรรคควรรีบสรุปและหาข้อยุติให้ได้ เพื่อให้การโหวตประธานสภาในวันที่ 4 ก.ค.นี้ เป็นไปในทิศทางเดียว

กระทั่งทั้ง 2 พรรค ได้ข้อสรุปเรื่องประธานสภา โดยเสนอชื่อคนกลาง ก็คือตัวผมเอง ไปทำหน้าที่เป็นประธานสภา เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอย จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

โหวตนายกฯ รอบแรกไม่ผ่าน รอบสองยังเสนอชื่อ ‘พิธา’ ได้หรือไม่

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ทางเรามีการคาดหวังในการโหวตนายกฯ รอบแรกอยู่แล้ว เนื่องจากเสียงจาก 8 พรรคร่วมมีคะแนนเสียงที่ 312 เสียง ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย คาดว่าน่าจะผ่าน 376 เสียงได้ แต่ถ้าไม่ผ่านนั้น ต้องมาวิเคราะห์กันว่าไม่ผ่านเพราะสาเหตุอะไร

การแก้ไขมาตรา 112

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมาย และข้อบังคับของสภาฯ ด้วย สุดท้ายในส่วนของ 8 พรรคร่วมนั้นที่มีการทำข้อตกลง MOU ร่วมกัน ทั้งสิ้น 23 ข้อ ซึ่งการแก้มาตรา 112 เป็น นโยบายหาเสียงของทางพรรคก้าวไกล ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงทั้ง 23 ข้อ

แต่หากทางพรรคก้าวไกลจะเสนอการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ก็สามารถเสนอในที่ประชุมสภาฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคสามารถเสนอข้อกฎหมายได้ รวมทั้งในภาคประชาชนโดยมีรายชื่อ 2 หมื่นรายชื่อขึ้นไป ก็สามารถเสนอข้อกฎหมายได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการเสนอข้อกฎหมายต่าง ๆ จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นกฎหมายสุราก้าวหน้า – สมรสเท่าเทียม

นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ อยู่ในข้อตกลง MOU ซึ่งในข้อตกลงของทั้ง 8 พรรคร่วม ระบุไว้ชัดเจนว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมยินดีที่จะสนับสนุน แต่จะสงวนสิทธิ์ให้ทางพรรคประชาชาติ ในการเสนอความคิดเห็นในทางที่ไม่เห็นด้วย

เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และอาจมีศาสนาอื่น ๆ ด้วย ซึ่งในมุมของทางพรรคประชาชาติ มองว่า กฎหมายที่จะเสนอเข้าไปนั้นต้องไม่ไปกระทบต่อการนับถือศาสนาและการดำรงชีวิตของศาสนาอื่น ๆ

ส่วนกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะออกได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนทางรัฐสภาโดยการยึดถือเสียงข้างมาก เช่นเดียวกันกฎหมายสุราก้าวหน้าด้วยเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง