คัดลอก URL แล้ว
นักวิชาการนิด้า เชื่อ ปมถือหุ้น ITV เป็นหมากหนึ่งเกมส์การเมืองในขบวนการของคนหลายกลุ่ม ทั้งนักการเมืองและนายทุน วางแผนสกัดพิธา-ก้าวไกล

นักวิชาการนิด้า เชื่อ ปมถือหุ้น ITV เป็นหมากหนึ่งเกมส์การเมืองในขบวนการของคนหลายกลุ่ม ทั้งนักการเมืองและนายทุน วางแผนสกัดพิธา-ก้าวไกล

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น หลังจากที่มีการเปิดคลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ที่ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุ

อาจารย์พิชาย มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้สูงที่มีขบวนการจากหลายกลุ่ม ทั้งจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองและกลุ่มที่ไม่ใช่นักการเมืองในการร่วมมือกันเพื่อสกัดขัดขวางนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และกระบวนการเหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะมีการก่อตัวกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อสกัดไม่อยู่ทำให้ พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 จึงเกิดการเดินหน้าสกัดกั้นต่อ โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นเกมส์การเมืองหมากหนึ่งในหลายๆ หมากที่กลุ่มดังกล่าวนำมาใช้ในการเดินหน้าการสกัดกั้นนายพิธา เนื่องจากแต่ละนโนบายของพรรคก้าวไกล อาจจะกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนจำนวนมาก ทั้งกลุ่มทุนผูกขาดหลายๆ สาขา จึงมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์จะร่วมมือกันเพื่อขัดขวางไม่ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล

ทั้งนี้ดูจากแนวโน้มตอนนี้คิดว่าเกมส์นี้อาจจะใช้ไม่ได้ผล เพราะหลักฐานต่างๆ เป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อนายพิธามากกว่า และเมื่อไม่ได้ผล เชื่อว่าขบวนการเหล่านี้อาจจะใช้เกมส์อื่นต่อในช่วงเวลาที่เหลือก่อนที่จะมีการเลือกนายกฯ ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าจะมีเกมส์อะไรใหม่ๆ ที่มาขัดขวางนายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนเรื่องเอกสารรายงานการประชุมที่ไม่ตรงกับคลิปวีดีโอนั้น ชัดเจนว่าประธานการประชุมที่พูดในคลิปกับคนเซ็นรับรองรายงานการประชุมเป็นคนเดียวกัน ดังนั้นไม่ต้องตรวจสอบอะไร แต่บุคคลดังกล่าวต้องออกมาชี้แจง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นปมปัญหาถึงเรื่องของธรรมาภิบาลของบริษัทนี้ได้และอาจจะมีผลกระทบกับการดำเนินงานในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้

ส่วนวิธีการที่จะดูว่าอะไรเป็นบริษัทสื่อหรือไม่นั้น จากที่มีการประมวลกันตามคำวินิจฉัยของทั้งศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาใน 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ พิจารณาว่าบริษัทนั้นยังดำเนินกิจการสื่ออยู่หรือไม่ หากไม่ได้ดำเนินการแล้ว บางศาลอาจจะพิจารณาว่าไม่ใช่สื่อแล้ว แต่บางศาลอาจจะบอกว่าเป็นสื่ออยู่ อีกข้อคือศาลจะพิจารณาว่ารายได้ที่ได้มานั้นมาจากการดำเนินกิจกรรมสื่อหรือไม่ หากได้มาจากการดำเนินกิจกรรมสื่อก็ถือว่ายังเป็นบริษัทสื่อ แต่หากได้มาจากการฝึกอบรม หรือจากดอกเบี้ย ก็ถือว่าไม่ใช่เป็นกิจกรรมสื่อ ศาลก็จะพิจารณาว่าไม่ใช่บริษัทสื่อ หลังจากผ่านการพิจารณา 2 ข้อแล้ว พบว่ายังเป็นบริษัทสื่ออยู่ ศาลจะพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น หากพบว่าสัดส่วนหุ้นที่ถือน้อยมากจนไม่สามารถที่จะไปครอบงำการดำเนินงานสื่อได้ ศาลก็จะพิจารณาให้พ้นผิด ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของนายชาญชัย ซึ่งหากดูจากองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดเทียบกับกรณีของนายพิธา หากศาลใช้บรรทัดฐานแบบเดียวกัน มองว่านายพิธามีโอกาสรอดสูงมาก รวมทั้งประเด็นที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วยที่ถือว่าไม่ได้เป็นผู้ครอบครองมาตั้งแต่ต้น แต่หากศาลตีความตามตัวอักษร ที่พบว่าถือหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียวก็ถือว่าผิด ดังนั้นมีโอกาสที่นายพิธาจะทั้งรอดและถูกศาลวินิจฉัยได้เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้บรรทัดฐานแบบใด

อาจารย์พิชาย มองว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลคงต้องพยายามหาทางในการต่อสู้ในเรื่องของคดีต่อไป เพราะกรณีการถือหุ้นไอทีวี จะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่นายพิธาได้รับการรับรองเป็น ส.ส. ซึ่ง กกต.อาจจะส่งยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจริง พรรคก้าวไกลจะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ในการต่อสู้ ส่วนเรื่องการเดินหน้าเพื่อจะไปสู่ตำแหน่งนายกฯ นั้น สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องโน้มน้าว จูงใจ และชี้แจงเหตุผลต่างๆ ต่อ ส.ว. เพื่อให้สนับสนุนในการลงมติเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามแสดงให้สังคมเห็นว่าพรคก้าวไกลและนายพิธา มีความพร้อมที่จะเป็นนายกฯ และพร้อมเป็นรัฐบาล ด้วยการนำเสนอผลงานต่างๆ ให้ประชาชนเห็นถึงความพร้อมในการทำงาน ซึ่งจากการที่พรรคก้าวไกลได้ออกมาทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา ในหลายนโยบาย แม้จะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นการแสดงให้สังคมเห็น และสร้างความพอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนสนับสนุนก้าวไกลต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง