คัดลอก URL แล้ว
‘สมชาย’ เสนอ กกต.5 ข้อ ดำเนินคดี “พิธา”

‘สมชาย’ เสนอ กกต.5 ข้อ ดำเนินคดี “พิธา”

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เสนอ 5 ขั้นตอน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการหลังรับคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1) รับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ของนายพิธา โดยเร็วหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

2) หลังการรับรอง ส.ส.แล้ว กกต.ต้องเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองในฐานะความปรากฎแก่กกต. โดยใช้ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า

2.1 นายพิธา ขาดคุณสมบัติและขัดรัฐธรรมนูญตามลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตามรัฐธรรมนูญมาตรา101 (6) ประกอบมาตรา98(3)

2.2 ขาดคุณสมบัติแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160

กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องให้ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 ร้องต่อประธานสภา เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 อีกเพราะความปรากฎตามที่กกต.รับไว้เองและกกต.ต้องสอบสวนจนมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายพิธา น่าจะมีลักษณะต้องห้ามอันเป็นการขาดคุณสมบัติส.ส.และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

3) กกต.ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับคดีอื่นๆที่ผ่านมา เช่น คดีที่กกต. ร้องคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ คดีที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญคดีวาระ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71

4) กกต.ยื่นดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าพนักงาน ตำรวจ อัยการ ในความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 (3) ในข้อหารู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นสื่อ ITV

คดีนี้มีบทลงโทษจำคุก 1-10 ปี โทษปรับ 20,000-200,000 บาท และตัดสิทธิการเมือง 20 ปี

5) อัยการพิจารณาคำสั่งฟ้องตามความผิดฐานดังกล่าวต่อนายพิธา หรือไม่

เรื่องนี้เป็นกรณีที่กกต.ควรต้องสอบสวนและมีพยานหลักฐานให้หนักแน่นชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะอัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนายธนาธร มาแล้ว โดยคดีดังกล่าว อัยการระบุว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้อง และดูเจตนาจากพยานหลักฐานแล้ว น่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็นส.ส.ของนายธนาธร ให้พ้นสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ไปแล้วก็ตามแต่อัยการสูงสุดก็ยืนยันมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนายธนาธร มาแล้ว โดยถือว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง