คัดลอก URL แล้ว
“ประพันธุ์ ” ชี้ “พิธา กำลังเดินตามรอย ธนาธร”

“ประพันธุ์ ” ชี้ “พิธา กำลังเดินตามรอย ธนาธร”

นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว) และนักกฎหมาย โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โดยชี้ว่า
“นายพิธากำลังเดินตามรอยนายธนาธร”

นายประพันธุ์ กล่าวว่า มีคนทำตนเป็นกุนซือกฎหมาย หวังพลิกคดีช่วยพิธาให้รอดพ้นจากคดีหุ้นไอทีวี ที่กำลังกลายเป็นบ่วงรัดคอและมีโอกาสดับฝันว่าที่นายกฯ ที่กำลังแอ๊กว่าตนเป็นนายกฯไปแล้ว โดยหยิบยกเอาข้อกฎหมายตาม ปพพ.มาตรา 1615 มาชี้ทางสวรรค์ให้พิธา ยกเป็นข้ออ้างข้อต่อสู้ซึ่ง ม.1615 วรรคแรกบัญัติว่า “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย” ด้วยข้อกฎหมายดังกล่าว กุนซือเลยแนะนำให้พิธาโอนหุ้นไปให้ทายาทอื่น ด้วยหวังว่าจะให้เจือสมกับข้ออ้างที่เคยแจ้งกับ ปปช.ว่าตนถือ”หุ้นไอทีวี” ไว้ในชื่อตนตั้งแต่พ่อตายว่า เป็นการถือแทนทายาทในฐานะผู้จัดการมรดก และคงหวังจะให้ศาลเชื่อตามนิตินิยายเรื่องนี้ว่า ตนไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นนั้นมาตลอดเวลานับแต่พ่อตาย เพื่อใช้เป็นข้อต่อสู้รวมกับประเด็นอื่นๆ

นายประพันธุ์ ก่าวต่อว่า เอาเฉพาะประเด็นเรื่องการสละมรดกและการโอนหุ้น อยากให้ความเห็นทางกฎหมายและข้อสังเกตกับทุกท่านที่สนใจติดตามข่าวนี้ และฝากคุณพิธาและกุนซือไปคิดด้วยดังนี้ครับ

  1. พ่อคุณพิธา ตายตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้เป็นเวลา 17 ปี คุณพิธายังจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทยังไม่เสร็จสิ้นอีกหรือครับ และต้องไม่ลืมที่จะพิจารณา ม.1750 วรรคแรกด้วยที่บัญญัติว่า ” การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท” แต่ถ้ามีสัญญาก็ไปดูวรรคสอง
  2. หากมีการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทเสร็จสิ้นแล้วการสละมรดกก็ไม่มีผลน่ะครับ เพราะท่านต้องสละมรดกก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น มิใช่เพิ่งจะมานึกจะสลละมรดกในวันนี้
  3. คุณพิธาควรเปิดดู ปพพ.มาตรา 1612 ด้วยน่ะครับ เขาบัญญัติไว้ดังนี้” การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ” คุณพิธาได้ทำไว้หรือยัง หรือว่าจะทำย้อนหลังเหมือนกรณีการโอนหุ้นของคุณธนาธร และถ้าจะเล่นบทนี้กับศาล คุณพิธาต้องมีเอกสารหลักฐานเป็นหนังสือและเอาหลักฐานนั้นมาแสดงต่อศาล และนำทายาทมาเบิกความต่อศาลด้วยเพื่อยืนยัน กรณีนี้ เสี่ยงเบิกความเท็จ นำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลได้น่ะครับ คิดให้ดีและตรึกตรองให้จงหนัก เดี๋ยวจะพาญาติพี่น้องมาเดือดร้อนติดคุกได้
  4. ตลอดเวลาที่ผ่านมา 17 ปี “หุ้นไอทีวี” ปรากฎถืออยู่ในชื่อของคุณพิธาเป็นส่วนตัว ไม่มีทายาทคนใดมาโต้แย้งขอแบ่ง หลักฐานที่ปรากฎทางทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ปรากฎว่าคุณพิธาถือในนามผู้จัดการมรดก ถ้าจะอ้างว่าทรัพย์มรดกยังไม่มีการแบ่งเสร็จสิ้น ต้องดูรายการบัญชีทรัพย์มรดกรายการ อื่นๆด้วยว่า ยังไม่ได้แบ่งด้วยหรือไม่ หรือมีเพียงแค่หุ้นไอทีวีเท่านั้น เพราะจะทำให้ข้ออ้างของคุณไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือครับ

“สรุป ขอให้ความเห็นและข้อสังเกตแค่นี้ครับ ประเด็นอื่นๆเป็นประเด็นเก่า โดยเฉพาะเรื่องคนจงใจฟื้นกิจการไอทีวีมาเล่นงานคุณพิธา ยิ่งไม่มีเหตุผลฟังไม่ขึ้น ไอทีวี เขาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในใบอนุญาตประกอบการธุรกิจสื่อโทรทัศน์มาตั้งแต่ปี 2550 ตั้งแต่พรรคของคุณพิธายังไม่เกิด จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างเรื่องเล่นงานคุณ และคดีทำนองนี้ ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว สู้อย่างไรก็ได้ครับ แต่ศาลจะเชื่อหรือไม่ นี่คือโจทก์ข้อใหญ่ของคุณพิธา”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง