คัดลอก URL แล้ว
กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังการระบาดโรคฝีดาษวานรช่วง “Pride Month”

กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังการระบาดโรคฝีดาษวานรช่วง “Pride Month”

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. และ ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เผยถึงมาตรการป้องกัน เตรียมพร้อมเฝ้าระวังการระบาดโรคฝีดาษวานรของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรเพิ่ม 21 คน โดยมีแนวทางดังนี้

นพ.สุนทร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ใช้แนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะอาการ ลักษณะการแพร่เชื้อ รวมถึงวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษวานร โดยประชาสัมพันธ์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ในศูนย์บริการสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้ทราบเกี่ยวกับอาการของโรค การป้องกันโรค ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ติดมากับผื่นและตุ่มน้ำ หมั่นล้างทำความสะอาดจุดสัมผัสในร่างกาย งดสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือผู้เข้าข่าย ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่าย โดยโรคนี้ป้องกันได้

โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ประชาชนสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีประวัติเสี่ยง ดังนี้

ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ อาทิ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือ โรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที

ทั้งนี้ มีการเตรียมความพร้อมให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้บริการคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกสุขภาพเพศหลายหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) หากพบเคสให้รีบวินิจฉัย และกักตัวผู้ป่วย 21 วัน ลงสอบสวนโรคในสถานที่เสี่ยง เฝ้าระวังอาการในบุคคลใกล้ชิด ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคยังไม่มีในประเทศไทย และในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ยิ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ด้าน ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้ง ER (ผู้ป่วยฉุกเฉิน) และ OPD (ผู้ป่วยนอก) รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง อีกทั้งได้มอบหมายโรงพยาบาลสิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ขึ้น เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแล สถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด โดยหากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที

ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ เน้นย้ำขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังต่างประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการ โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่าย ๆ มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้ คือ หากพบมีความผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย

สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกสุขภาพเพศหลายหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ใน รพ.สังกัด กทม. ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โทร.02-2208000 ต่อ 10350 โรงพยาบาลตากสิน โทร.02-4370123 ต่อ 1136, 1140 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02-2897890 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์โทร.02 102 4222 หรือ 02 421 2222 และโรงพยาบาลสิรินธร โทร. 02-3286900-15 ต่อ 10268, 10269 สงสัยหรือต้องการคำปรึกษาด้านสุขภาพ โทร. 1646 สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร บริการตลอด 24 ชั่วโมง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง