คัดลอก URL แล้ว
ทำลายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 6 หมื่นชิ้น มูลค่ารวม 66 ล้าน

ทำลายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 6 หมื่นชิ้น มูลค่ารวม 66 ล้าน

วานนี้ (26 พ.ค. 66) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) , นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และผู้บริหารจาก บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ เข้าร่วมพิธีทำลายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ณ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ จ.ระยอง โดยการทำลายในครั้งนี้มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จำนวนหลายรายการ เช่น พาวเวอร์แบงค์ ของเล่น ไฟแช็กก๊าซ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับดูแลผิวและผม เตารีด ลำโพงพร้อมเครื่องขยาย เตาย่างเตาปิ้ง เตาไมโครเวฟ พัดลมไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า หม้อสุกี้ เต้าเสียบเต้ารับ ปลั๊กพ่วง กระทะไฟฟ้า ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ หมวกกันน็อก ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ จุกดูดนมเด็ก ของเล่น ฟิล์มห่ออาหาร แบตเตอรี่ เป็นต้น จำนวนรวมกว่า 60,000 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 66 ล้านบาท

สำหรับกระบวนการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ ซึ่งเป็นโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า ที่สามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภทและหลายขนาด ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นแบบระบบปิด มีระบบการควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับขยะอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน ร่วมกับแอช เมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุที่เผาไหม้ ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ โดยกระบวนการนี้ จะทำให้ไม่เหลือขยะอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆได้อีก ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนภัย ถึงผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่บังคับให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ และมีเครื่องหมาย มอก. โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดบ้างที่ต้องได้รับอนุญาตให้มี มอก.ได้จากคู่มือผู้ซื้อภายในเว็บไซต์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) www.tisi.go.th และหากประชาชนพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการนำเข้า ผลิต กักเก็บ หรือลักลอบจำหน่ายสินค้าไม่มี มอก. สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลผ่านทางสายด่วน บก.ปคบ. หมายเลข 1135 หรือ facebook : กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค / ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง