คัดลอก URL แล้ว
เปิดมุมมอง จตุพร-สมชัย ทำไม “ตำแหน่งนายก” ยังไกลเกินฝัน

เปิดมุมมอง จตุพร-สมชัย ทำไม “ตำแหน่งนายก” ยังไกลเกินฝัน

เป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ภายหลังจากที่ 8 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่  ร่วมกันลงนาม MOU ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนับจากนี้ไปยังคงมีไทม์ไลน์ที่รัฐบาลใหม่ จะต้องเผชิญต่อไป โดยนับจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการเลือกประธานสภาฯ ซึ่งในเรื่องนี้ ถือเป็นประเด็นแรกที่เริ่มประเด็นกันในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ว่า ตัวแทนจากพรรคใดจะก้าวขึ้นมานั่งเป็นประธานสภาฯ

ตำแหน่งนายกฯ ยังไกลเกินฝัน – ประธานสภาชัดเจนกว่า

ทางด้านของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ตำแหน่งประธานรัฐสภานั้น ถือเป็นตำแหน่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ จะมีผลต่อเรื่องการทูลเกล้าฯ นายกฯ การควบคุมการประชุมต่าง ๆ ซึ่งทางฝั่งก้าวไกลก็แสดงท่าที่ว่า อยากได้ ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็เชื่อว่า ลึกนั้นอยากได้มากกว่า

ซึ่งเป็นเรื่องของการเจรจาต่อเรื่อง ในมุมหนึ่งเพื่อไทยก็คาดว่าจะมองว่า ก้าวไกลได้เป็นตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว ดังนั้นตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ควรจะแบ่งมาให้ทางเพื่อไทยบ้าง หรือหากก้าวไกลจะรั้งตำแหน่งนี้ไว้ ก็จำเป็นจะต้อง “แลกกับตำแหน่งใหญ่ ๆ” ดังนั้นก็เป็นเรื่องของการเจรจา

ทางด้านของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้กล่าวว่า ส่วนตัวก็เห็นใจพรรคก้าวไกล และก็เข้าใจพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะว่า ก้าวไกลก็รู้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ยังคงไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 376 เสียง ยังคงขาดอยู่ 63 เสียง แต่คุณพิธาก็มีโชคร้ายที่ต้องเผชิญด่านคุณสมบัตินายกฯ ซึ่งก้าวไกลเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว

หากไม่มีเรื่องของคุณสมบัติ เชื่อว่า การคุยตำแหน่งประธานสภาฯ จะง่าย แต่ถ้าคุณพิธา โชคร้าย แคนดิเดตนายกฯ ก็จะไปถึงพรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานสภาก็ไปอยู่กับเพื่อไทยอีก ก้าวไกลก็จะไม่เหลืออะไรเลย

ดังนั้นระยะเวลาที่เหลือในขณะนี้ ราว 2 เดือน ก็ให้เวลามันทำงานไป หากมีสัญญาณว่า คุณพิธาไปไม่ได้อย่างชัดเจนแล้ว เชื่อว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อไทยก็จะยอมพรรคก้าวไกลเช่นกัน แต่ถ้าคุณพิธาผ่านไปได้ เพื่อไทยก็คงมองว่า จะเอาอะไรไปทั้งหมด

“ก้าวไกลมีสิทธิ์คิดว่า ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย ตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่ได้ ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้ เค้าจะไม่เหลืออะไรเลย”

ซึ่งในประเด็นของการที่นายพิธา จะผ่านด่านของคุณสมบัติไปได้หรือไม่นั้น รศ.สมชัยมองว่า ในขณะที่เลือกประธานสภาฯ นั้น ยังคงอยู่ในระหว่างที่เรื่องคุณสมบัติของนายพิธา ยังไม่สะเด็ดน้ำ อาจจะอยู่ในจังหวะของการที่ กกต. ส่งเรื่องแล้ว แต่ศาลยังไม่ชี้ จึงต้องเป็นเรื่องวัดใจกันในช่วงนั้น

“สำหรับการประเมินในช่วงนี้ ผมยังเชื่อว่า
เพื่อไทยเป็นต่อในภาพรวมของสภาทั้งสภา”

ซึ่งในการลงคะแนนเลือกประธานรัฐสภานั้น เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ความคุ้นเคย ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อไทยดูจะเป็นมิตรมากกว่า เคยคบมาทุกพรรค รู้จักกันหมด ในขณะที่พรรคก้าวไกลที่ผ่านมา มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความแตกหักสูง ดังนั้น เมื่อพูดถึงการโหวตในรัฐสภาแล้วนั้น บางทีก็ถือว่า เพื่อนไม่ค่อยนะ

นายจตุพร ยังระบุเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ต้องแฟร์กับเพื่อไทยด้วย เพราะว่า ความจริงมันผิดขั้นตอนเรื่อง MOU โดยตัวของ MOU นั้นควรจะอยู่ในกรอบของความร่วมมือกันเท่านั้นเอง แต่ไม่ควรไปอยู่ในเรื่องของรายละเอียดไม่ว่าจะกี่ข้อก็ตาม และหลังจากกกต. รับรองสิ้นกระแสความแล้วค่อยมาว่ากัน

และ MOU ลงนามร่วมกันนั้น นายจตุพร มองว่า เหมือนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าเนื้อหาจะเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนการปฏิบัติหน้าที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนกับเอาเรื่องสุดท้ายมาเป็นเรื่องแรก มันก็เป็นปัญหา

ที่บอกว่า ต้องแฟร์ เมื่อจับมือกันแล้ว 313 เสียง พรรคที่เป็นเสียงข้างน้อยรวมกันอีก 187 เสียง ถ้าโหวตแล้วเทให้กับพรรคเพื่อไทย ก็ไม่แฟร์กับก้าวไกลเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ อยู่ที่การตกลง ไม่ว่าอย่างไรก็จะเป็นไปตามเสียงข้างน้อยไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องความเก๋า แต่มันเป็นเรื่องของสุภาพบุรุษทางการเมืองเช่นกัน

ในท้ายที่สุดแล้ว ในเรื่องของการเลือกประธานสภานั้น รศ.สมชัย ระบุว่า อยากได้ทั้งคู่ ในความที่อยากได้ทั้งคู่นั้นมีความแตกต่างกัน ก้าวไกลเสนอในมุมของหลักการว่า จะทำอะไร 1- 2 – 3 – 4 ในขณะที่เพื่อไทยเอง ก็มีความอยากได้ในตำแหน่งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ท้ายที่สุดจะอยู่ที่ 500 คนในสภาจะว่าอย่างไร หากคุยกัน 313 เสียงไม่จบ เสียงข้างน้อย ก็จะเป็นตัวบอกว่า เค้าจะเลือกใคร

เลือกประธานสภา ส่งผลถึงตำแหน่งนายกฯ

สำหรับประเด็นของการเลือกประธานสภาแล้ว จะส่งผลให้เห็นอะไรต่อการเลือกนายกฯหรือไม่

รศ.สมชัยระบุว่า ขั้นต่อไปประธานสภาฯ จะมีหน้าที่เรียกประชุม สส. และ สว. ในการเลือกนายกฯ ดังนั้น หากจะกำหนดกรอบให้ช้า หรือเร็ว ประธานสภา เป็นผู้ตัดสินใจ หากเข้าประชุมรัฐสภาครั้งที่หนึ่ง หากมีปัญหายังไม่ได้ ก็จะมีครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะให้ได้มาซึ่งรัฐมนตรี

ในปมของสว. ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น นายจตุพร มองว่า ในเรื่องตำแหน่งที่เป็นความจริงได้มากที่สุดในขณะนี้ คือตำแหน่งประธานสภาฯ เท่านั้น ตำแหน่งนายกฯ ยังไกลเกินฝัน ดังนั้นที่ทั้งสองพรรคจะเล็งที่ตำแหน่งประธานสภา เพราะมันจะได้จริง ส่วนตำแหน่งนายกฯ มันมีโอกาสที่จะไม่ได้จริง

เพราะไม่ว่าจะได้กี่เสียงก็ตาม แต่ถ้าไม่ถึง 376 เสียง ก็จะตั้งรัฐบาลไม่ได้ มีค่าเท่ากับ 0 ซึ่งแม้ว่าจะมีเสียงสว.มาบ้าง ก็เหมือนกับฝนชะโลมใจ ส่งดอกไม้ให้กำลังใจ แต่จะให้รวมยังไงก็ไม่ถึง 63 เสียง

เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้น
ดูจากการเลือกตั้งปี 2562
จากการปริ่มน้ำ เมื่อปริ่มอีกทางหนึ่ง
ก็มานับคะแนนปัดเศษอีกทางหนึ่ง
แล้วก็เอา 250 เสียงมาเทให้
ชนะก็ชนะขาด แต่ถ้าแพ้เค้าจะไม่แพ้
ห้ สว. งดออกเสียง

เมื่อเกมมันออกมาว่า ถ้าชนะก็ชนะขาด เมื่อแพ้ก็ไม่แพ้
ก็รักษาการณ์กันต่อไป จนกว่าจะตั้งชุดใหม่ได้ แต่ถ้ารออายุของสว.ชุดนี้ได้ ก็ต้องมาเจอด่าน กกต. – ศาลรัฐธรรมนูญอีก ไม่รู้จะมีฟาสแทร็กอะไรกันอีก

ซึ่งในปมของจำนวนเสียง สว. นั้น รศ. สมชัย ก็มองว่า ก็ต้องมองให้กำลังใจหน่อย มันยังอีก 2 เดือน มันก็ค่อย ๆ เพิ่ม ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันลงคะแนน ก็ต้องให้กำลังใจกัน ในการที่จะให้ได้เสียงจาก สว.มา การที่จะส่งเสริมให้ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นหลักการสำคัญ เสียงของสว. เป็นเพียงสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นขณะนี้ ก้าวไกลต้องเดินเกมอย่างไรที่จะให้ได้เสียง สว. มานั้น ก็จะต้องไปทำความเข้าใจกับสว. ว่าจะเข้ามาทำอะไรให้ความเจริญกับบ้านมือง ไม่เป็นปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แค่ MOU ไม่พอ

เพราะตัว MOU บางข้อนั้นก็ดูว่า จะไปรื้ออะไรเต็มไปหมด ซึ่งคนที่เป็นราชการมาก่อนไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้นการสื่อสาร ทำความเข้าใจจึงสำคัญ ว่าการที่สว. มาโหวตให้ไม่เสียหาย ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่ก้าวไกลเป็นคือการอิงกับมวลชน และให้มวลชนไปกดดันสว. ที่เราได้เห็นภาพเช่นแบบเมื่อวานนี้ ดีไม่ดีในวันที่โหวตอาจจะมีการชุมนุมใหญ่กันก็ได้

แนวทางนี้ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม ไม่ใช่แนวทางของการใช้เสียงภายนอกมากดดัน แนวทางที่ควรทำคือ ทำความเข้าใจจากภายใน ซึ่งการไปพบประธานสภาอุตสาหกรรมได้ ไปพบกับตัวแทนประเทศต่าง ๆ ได้ ก็ไปพบกับ สว. อย่าดำเนินการทางลับจนไม่มีคนรู้เรื่อง ควรนัดไปเลยว่า พรุ่งนี้จะไปเข้าพบประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงความจริงใจ นอบน้อม ตั้งใจในการทำงาน ซึ่งหากเข้าไปคุย สว. ก็ต้องคุยด้วย เพื่อเชื่อมโยงเดินสายพูดคุยต่อไป

ทางด้านของนายจตุพร มองว่า ปัญหาของการเดินสายเข้าไปคุยเนี่ยต้องตั้งคำถามว่า สว.ตัดสินใจเองได้หรือไม่? อย่าว่าแต่ สว. หัวหน้าพรรคก็ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจเองเลย นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งแนะนำให้ไปคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นี่แหละถูกถูกคนที่สุดแล้ว ซึ่งตอนที่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์นั้น สว.ยกมือให้ถึง 249 เสียง เหลือคนเดียวไม่ได้ไปโหวต งดออกเสียงรักษามารยาท ดังนั้นคุยได้ แต่การตัดสินใจนั้นเป็นคนละเรื่อง

แต่ในประเด็นของสว. นั้น รศ. สมชัยยังคงมองว่า ตำแหน่งสว. ถือว่า เป็นคนที่มีคุณวุฒิ เป็นตัวของตัวเองในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะถูกมองว่า คสช. เป็นคนแต่งตั้งมา แต่ถึงวันนี้ ไม่ใช่แล้ว ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะพ้นตำแหน่งแล้ว ดังนั้นเรื่องขอหนี้บุญคุณไม่มีแล้ว อยู่ที่ว่า ท่านจะทำอะไรแก่ประเทศชาติดีที่สุด เพื่อเป็นอนุสร เป็นที่ระลึก ให้คนได้ชื่นชม ดังนั้น ยังเชื่อว่า พอจะพูดคุยได้

ในเรื่องของความเป็นตัวของตัวเอง และการตัดสินใจของสว. นั้นนายจตุพร แสดงความเห็นว่า อย่างคุณหมอพรทิพย์ ที่ตอนแรกก็ดูเหมือนจะเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็มีประเด็นเรื่องของ GT200 ลอยมา และก็ปัจจุบันกลับไปเป็นเหมือนเดิม

โดยเมื่อสรุปสัญญาณ ณ วันนี้ หลังจากที่ผ่านเวลามาสักพักแล้ว แต่ รศ. สมชัยยังคงมองว่า สัญญาณของเสียงสว. นั้นยังเป็นลบอยู่ แต่ยังมีเวลาพูดคุยในการทำความเข้าใจและไว้วางใจ หากทำได้ก็จะได้เสียง สว. มาโหวตให้มากขึ้น

ส่วนนายจตุพรนั้น ก็มองว่า สถานการณ์ของ สว.ในขณะนี้ สิ่งที่น่ากลัวก็คือ มืดจนมองไม่เห็น กับ สว่างจนมองไม่เห็น ดังนั้นเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้ายังคิดแบบเดิมสูตรเดิม ใน 60 วันนี้ จะไปเจรจาให้ สว. ไว้วางใจได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า ที่ทำอยู่นั้นไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่เอาความสบายใจได้ แต่ทั้งหมดต้องคิดเผื่อ แผน 1 – 2 – 3 ไว้ ซึ่งหากจะคิดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สบาย ๆ นั้น ไม่ใช่ เพราะความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น

หุ้นไอทีวีด่านใหญ่

ส่วนประเด็นเรื่องของหุ้นไอทีวี นายจตุพรมองว่า ถือเป็นวิบากกรรมใหญ่ของนายพิธา ซึ่งแม้ว่าตัวเองอยากให้ผ่านไปได้ แต่ในฐานะที่เป็นคนการเมืองเดิม เป็นคนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้คนละเรื่องกันนำไปสู่การพ้นจากการเป็น ส.ส. จึงมองว่า กรณีของคุณพิธา จะหนักกว่ากรณีของคุณธนาธร เชื่อว่าในกรอบ 2 เดือนนี้ จะเห็นเค้าลาง

ไม่ว่าอย่างไร กกต. ก็ต้องรับรองไปก่อน แล้วค่อยตามไปสอย และขั้นตอนที่ไปสอยในศาลฯ นั้นก็จะมีการชี้ในเบื้องต้นว่า ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ก็เหมือนกับกรณีของนายธนาธร ซึ่งก็บอกทิศทางได้แล้วว่า จะเป็นอย่างไร การต่อรองตำแหน่งประธานสภาก็จะง่ายขึ้น เพราะเห็นสัญญาณแล้ว ซึ่งที่เห็นมาก็ถือว่า รอดยากมาก ก่อนการประชุมเลือกประธานสภา ก็จะเห็นสัญญาณแล้ว แม้ว่า ศาลจะยังไม่ได้วินิจฉัยก็ตาม

ทางด้านของ รศ. สมชัยยืนยันว่า เรื่องนี้ยังคง 50-50 หากตนเองยังคงเป็น กกต. ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลไปพิจารณาต่อ ยกภาระ โยนเผือกให้กับศาลฯ ไป ดังนั้น กกต. ก็น่าจะวินิจฉัยเป็นลบ และส่งเรื่องต่อไป 50-50 นี้ จึงแล้วแต่การมอง

หากมองในมุมของเจตนารมย์ของกฏหมายว่า นักการเมืองมีหุ้นในสื่อฯ เพื่อใช้สื่อฯ เป็นเครื่องมือทำให้ความได้เปรียบ สัดส่วนถือหุ้นมากพอสมควร และสื่อฯ ต้องประกอบกิจการจริง ก็หลุดได้

แต่ถ้าตีความเคร่งครัดตามตัวอักษร ว่า อันนี้เป็นสื่อฯ หรือไม่ ประกอบกิจการอยู่หรือไม่ มีปันผลไหม ถือหุ้นหรือไม่ ซึ่งก็จบ

โดยในประเด็นการถือหุ้นนี้ เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง เท่าที่ทราบก็รู้สึกว่า เป็นลบต่อคุณพิธา และศาลมีโอกาสที่จะตัดสินไปได้ทั้งสองแนวทาง และถ้าถามว่า เชียร์ทางไหน ส่วนตัว รศ.สมชัยระบุว่า อยากให้มองที่เจตนารมย์ของกฎหมาย มากกว่าใช้เทคนิคทางกฎหมายเหล่านี้มาบั่นทอนและเอาชนะซึ่งกันและกัน แทนที่นักการเมืองบางคนจะมีสื่อฯ ใหญ่อยู่ในมือ ออกสื่อฯ เต็มไปหมด เพียงแต่ไม่ได้ถือหุ้นให้คนอื่นถือแทนยังคงอยู่ได้ แต่คนบางคนพลาดไปทั้งที่ไม่ได้ใช้สื่อฯ เลย ก็ถือว่า ไม่เป็นธรรม

ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง ใครจะได้เป็นนายกฯ

คำถามสุดท้าย หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้นายพิธา ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ แล้วใครจะเป็นต่อ รศ.สมชัยระบุว่า ด่านคุณสมบัติจะเกิดขึ้นก่อนโหวตนายกฯ ถามว่า ทำไมถึงเกิดขึ้นเร็ว ก็เพราะว่า หากเกิดขึ้นช้าจะส่งผลเสียมากกว่า ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็จบ แต่ถ้าช้าก็จะกลายเป็นเรื่องไม่โหวตให้ เพราะมีเรื่องค้างคาอยู่

และหากผลเป็นลบ ก็ต้องเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ
ซึ่งก้าวไกลไม่มีแล้ว ก็ต้องไปดูพรรคร่วมที่เหลือ
ซึ่งก็ต้องเป็นพรรคร่วมอันดับสอง ดังนั้น เมื่อเบอร์หนึ่งไปไม่ได้ ก็ต้องให้เบอร์สองไป แต่ 8 พรรคต้องเหนียวแน่น

นายจตุพร ก็ได้กล่าวว่า เรื่องประธานสภานั้นจะเป็นเรื่องที่สัมผัสได้จริง ๆ เรื่องนายกฯ ยัง 50-50 ถ้าคุณพิธาหลุดไป แคนดิเดตมาถึงพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีโจทย์ถัดไป ก็คือยังขาดอีก 63 เสียงเหมือนเดิม อย่าไปฟังคำสว. เค้าที่ว่า “ถ้าเป็นของเพื่อไทยก็จะเบากว่า” จะถือว่า คิดผิดมหาศาล เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นกรณีของเพื่อไทยก็คือ เมื่อแหวกข้ามขั้วไปจับมือกับ 2 ลุง ก็จะได้ตำแหน่งนายกฯ แต่พัง เป็นคนก็เสียคน เป็นพรรคก็เสียพรรค และคนที่เลือกก้าวไกล ก็จะรู้สึกว่า ถูกทรยศหักหลังเหมือนกัน

ดังนั้นถ้าจับมือกันแน่น MOU ว่ากันเรื่องการสัญญาสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีจับมือกันเนี่ย ก็ยังติดกับ 313 กันอยู่ มันก็ตันเหมือนกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็นั่งรักษาการไป แต่ปมของกกต. จะเป็นตัวเร่งสถานการณ์ให้เดินต่อไป

ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้เหมือนนั่งอยู่ในกรงกระจก ก็ยังมองเห็นเส้นขอบฟ้ากันอยู่ จะรู้ก็ต่อเมื่อไปชนกระจกก็จะรู้ว่า มันตันกันอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง