คัดลอก URL แล้ว
ชาวออสเตรเลียเผชิญ “วิกฤติค่าครองชีพ” พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี

ชาวออสเตรเลียเผชิญ “วิกฤติค่าครองชีพ” พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี

ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และผลพวงจากสงครามในยูเครน ทำให้หลายประเทศเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และค่าครองชีพต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับชาวออสเตรเลียกำลังเผชิญวิกฤติค่าครองชีพที่พุ่งสูงเกินอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีผู้บริโภคอย่างหนักในขณะนี้

สถานการณ์ในออสเตรเลียขณะนี้ พบว่า ในไตรมาสล่าสุด ดัชนีค่าครองชีพของแต่ละครัวเรือนปรับเพิ่มสูงขึ้น จาก 7.1 เป็น 9.6% ซึ่งสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่อยู่ที่ 7.0% ต่อปี

ที่มา – สํานักงานสถิติออสเตรเลีย

ซึ่งดัชนีค่าครองชีพในออสเตรเลียพุ่งสูงขึ้นเทียบเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1986 หรือเกือบ 40 ปีก่อน

ค่าเดินทาง-ที่พัก

สํานักงานสถิติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 8% การเดินทางและที่พักเพิ่มขึ้น 25% และบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 6.7% ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 15.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013

ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นลิตรละ 2 ดอลลาร์ ส่งผลให้สินค้าต่าง ๆ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่จะตามมาด้วยค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น

ที่มา – สํานักงานสถิติออสเตรเลีย

สำหรับค่าที่พักนั้นเป็นผลพวงมาจากที่ธนาคารกลางของออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 มาอยู่ที่ระดับ 3.85% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเมื่อ เมษายน 2022 นั่นอยู่ที่ระดับ 0.1% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนพุ่งขึ้น

ที่มา – Reserve Bank of Australia

นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มแล้ว ในรัฐวิตอเรียกำลังจะเผชิญปัญหาเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการเสนอการจัดเก็บ “ภาษีโควิด” ในแผนงบประมาณปี 2023 – 2024 เพื่อชดเชยเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไปในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เจ้าของที่ดินหรืออสังหาฯ เพื่อการลงทุน -ให้เช่า ในรัฐวิตอเรียกว่า 8 แสนรายได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้เกือบ 4 แสนรายไม่เคยอยู่ในกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีมาก่อน ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าเช่าบ้าน-ที่พักอาศัยที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก

ส่วนในกลุ่มธุรกิจที่มีการจ่ายเงินเดือนพนักงานสูงกว่า 10 ล้านเหรียญขึ้นไป ก็จะมีต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า หรือบริการ หรือแม้แต่การปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานหรือไม่

หนึ่งในสี่ ของชาวออสเตรเลียต้องอดอาหารในบางมื้อ

รายงานการสํารวจโดยสภาสหภาพแรงงานออสเตรเลียจากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน พบว่า มากกว่าครึ่งจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง หรือออมเงินมากขึ้นเพื่อซื้อหาสินค้าที่ต้องการ โดยหนึ่งในสี่จำเป็นต้องเลือกงดอาหารในบ้างมื้อเพื่อประหยัดเงิน หรือ บางส่วนเลือกที่จะทำงานเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มเติม

ทางด้านของ Salvation Army หนึ่งในองค์กรการกุศลที่มีสาขาอยู่ในประเทศออสเตรเลียเปิดเผยผลสำรวจ ชาวออสเตรเลียในกลุ่มผู้เปราะบางที่เข้ามาขอรับการสนับสนุน จำนวน 1,700 ตัวอย่าง มีเงินเหลือสำหรับการดำรงชีวิตน้อยกว่า 6 ดอลลลาร์ต่อวัน หลังจากที่ได้หักค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่นค่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังพบว่า

“น้ำหนักของฉันหายไป 40 กก. ในช่วงเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา เพราะต้องเก็บเงินไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของลูก และให้พวกเขาได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย”

หนึ่งในคุณแม่วัย 55 ปีให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของ Salvation Army ในขณะที่อีกรายหนึ่งระบุว่า “ฉันกินอาหารที่เหลือจากลูก ๆ ซึ่งหากมื้อไหนที่ไม่มีเหลือ ก็จะไม่ได้กิน รวมถึงเวลาที่ไปส่งลูกที่โรงเรียน ก็จะจอดรถในลานจอดรถของโรงเรียนจนกระทั่งถึงเวลาเลิกเรียน เพื่อประหยัดค่าน้ำมัน”

1 ใน 8 ของชาวออสเตรเลีย อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

รายงานเกี่ยวกับความยากจนในออสเตรเลียในปี 2023 พบว่า 1 ใน 8 ของชาวออสเตรเลียอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งมีบางส่วนที่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือประกันสังคมจากรัฐบาล และอีก 37% นั้นเป็นผลกระทบมาจากอัตราค่าจ้างที่ไม่เพียงพอ ซึ่งสถานการณ์ในออสเตรเลียในขณะนี้ หลายฝ่ายมองว่า ค่าจ้างที่ได้รับ และอัตราการปรับขึ้นค่าแรงนั้นตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ทัน

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น กระทบค่าใช้จ่ายในครัวเรือนหลาย ๆ ด้านเช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร และส่งผลให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้เส้นความยากจนมากขึ้นในขณะนี้ ดังนั้นแม้ว่า คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนในขณะนี้ ก็ยังคงมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน จากอันตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ของพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาอยู่ที่ราว 1,807.70 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 21.38 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ในขณะที่ ค่าเช่าบ้านรายสัปดาห์เฉลี่ยของประเทศคือ 568 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นเกือบหนึ่งในสาม

2 ใน 3 ของผู้สูงอายุไม่มั่นใจว่า จะมีเงินเพียงพอเมื่อเกษียณ

ผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและบริการบัญชี Findex พบว่า 52% ของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และ 38% ของ Gen. X “ไม่มั่นใจ” ว่า จะมีเงินเหลือเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็นในช่วงหลังการเกษียณอายุ ในขณะที่คนกลุ่ม มิลเลนเนียลนั้น ไม่มั่นใจราว 31%

ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายภายในบ้านต่าง ๆ ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยค่าเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงเพิ่มสูงขึ้นถึง 11.7% ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในพื้นที่รอบนอกเพิ่มขึ้น 2.2% ในไตรมาสสุดท้าย หรือคิดเป็น 4.5% เมื่อเทียบปีที่แล้ว

ทางด้านของ Association of Superannuation Funds of Australia Retirement Standard ระบุว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้ที่เกษียณอายุต้องมียอดเงินสูงถึงกว่า 5 แสนดอลลาร์ออสเตรเลีย

ยอดค้างชำระค่าปรับในรัฐวิคตอเรียพุ่ง

ผอ. Fines and Civil Enforcement ในรัฐวิกตอเรียระบุว่า จำนวนค่าปรับของผู้ที่กระทำความผิดในข้อหาขับรถเร็ว, จอดรถในที่ห้ามจอด และค่าผ่านทางต่าง ๆ มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยคิดเป็นเงินกว่า 7 แสนดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยเฉพาะค่าผ่านทางที่ค้างชำระเพียงอย่างเดียวสูงถึง 5 แสนดอลลาร์ออสเตรเลีย จากยอดค่าปรับการกระทำผิดกฎจราจรทั้งหมดกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นจะต้องไล่ติดตามผู้กระทำความผิดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้กระทำความผิดไม่ดำเนินการชำระค่าปรับตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้


ที่มา :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง