คัดลอก URL แล้ว
สำรวจเสียง ส.ว. โหวต – ไม่โหวต “พิธา” นั่งนายกฯ คนที่ 30

สำรวจเสียง ส.ว. โหวต – ไม่โหวต “พิธา” นั่งนายกฯ คนที่ 30

การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งกวาดที่นั่งส.ส. มาเป็นอันดับ 1 หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจับมือร่วมกับอีก 7 พรรค ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, และ นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ เพื่อผนึก 8 พรรค 313 เสียงฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน

▪️  สำรวจเสียง ส.ว. แนวโน้มหนุน “พิธา” นั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

นอกจากการจับขั้วพรรคการเมือง เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเยอะที่สุดในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น อีกหนึ่งเงื่อนไขที่ต้องจับตาในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คือการที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจร่วมโหวตได้ด้วย ทำให้จากเดิมที่ต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียง จาก 500 เสียง ต้องขยับขึ้นเป็นต้องได้ 376 เสียง จาก 750 เสียง เพราะการรวม 250 เสียงของ ส.ว. เข้าไปด้วย

โดยสถานการณ์ขณะนี้ ส.ว.ที่ระบุชัดเจน รวมทั้งมีแนวโน้มสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งปรากฏตามช่องทางสื่อสารของตัวเองและสื่อมวลชนต่างๆ ประมาณ 13 รายแล้ว ประกอบด้วย

  1. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
  2. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
  3. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
  4. นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน
  5. นายอำพล จินดาวัฒนะ
  6. นายทรงเดช เสมอคํา
  7. นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล
  8. น.ส.ภัทรา วรามิตร
  9. นายวันชัย สอนศิริ
  10. นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล
  11. นายประมาณ สว่างญาติ
  12. นพ. เจตน์ ศิรธรานนท์
  13. นางประภาศรี สุฉันทบุตร

ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการออกจดหมายเปิดผนึก, โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน อาทิ วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจดหมายเปิดผนึก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า “ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ ภายใต้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี”

ขณะที่นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า ” ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ไป ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่ายจะดีกว่า ประเทศไทยถึงจะไปต่อได้”

ขณะที่ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า “ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี”

ด้านดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า “รับฟังเสียงของประชาชนแน่นอนครับ และพร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่มาจาก ส.ส. ที่รวมกันได้เกินกว่า 250 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้ยั่งยืนต่อไป”

ด้านวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า “โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า 1. ใครรวมเสียงส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น 2. เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และ 3. เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง”

อีกหนึ่ง ส.ว. ที่แสดงจุดยืนล่าสุด ประภาศรี สุฉันทบุตร โพสต์เฟซบุ๊ก วานนี้ (18 พ.ค. 66) ประกาศจุดยืนเคารพมติของประชาชน “เห็นชอบ” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

▪️ สำรวจเสียง ส.ว. มีแนวโน้มไม่โหวต “พิธา” นั่งนายกฯ

  1. นายจเด็จ อินสว่าง
  2. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
  3. นายเสรี สุวรรณภานนท์

โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ไม่โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ โดยระบุว่า ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่างมาตรา112 ตนไม่สามารถโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ได้แน่

ด้านนายจเด็จ อินสว่าง ได้มีการระบุว่า ส.ว. คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ จึงค่อยพิจารณาโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อพิธา เป็นนายกฯ ส่วนตัวจะไม่โหวตให้แน่นอน เพราะพิธามีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112  ซึ่งรับไม่ได้

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาจะพูด พร้อมยังเผยสเป็กนายกฯ ว่าชอบคนจงรักภักดี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง